ครั้งหนึ่งมีการจัดสัมมนาเรื่อง “มองพระพุทธศาสนาในศรีลังกาและเกาหลีใต้สะท้อนปัญหาพระพุทธศาสนาไทย” โดยนักศึกษาศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย นักศึกษากลุ่มนี้กำลังศึกษาในระดับปริญญาเอก การสัมมนาในครั้งนั้น แม้จะไม่ได้บทสรุปที่เป็นรูปธรรมแต่ก็ได้เห็นทัศนะที่หลากหลาย เพราะประเทศศรีลังกานับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทเหมือนกับประเทศไทย เคยเจริญรุ่งเรืองโดยมีกษัตริย์เหมือนประเทศไทย ส่วนเกาหลีใต้พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทก็เคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อน ต่อมาจึงหันไปนับพระพุทธศาสนานิกายมหายานและศาสนาอื่น ทั้งสองประเทศเคยปกครองด้วยกษัตริย์เหมือนประเทศไทย แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไป แต่ประเทศไทยยังคงมีพระมหากษัตริย์และยังมีพระพุทธศาสนาเถรวาทอยู่คู่กับประเทศไทย
แม้ว่านักศึกษาที่เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนั้นจะจบการศึกษาไปเกือบหมดแล้ว แต่ก็ยังมีบางท่านยังคงเวียนว่ายตายเกิดหน้าดำคร่ำเครียดกับการทำวิทยานิพนธ์เพื่อให้จบตามหลักสูตร ชื่อที่ใช้อ้างในเรื่องนี้เป็นชื่อที่ใช้เมื่อเริ่มเข้าศึกษา ส่วนใครที่มี ดร.นำหน้าแล้วก็ต้องขออภัยด้วย ในงานสัมมนาครั้งนั้นบังเอิญเว็บมาสเตอร์ไซเบอร์วนารามอยู่ในเหตุการณ์ด้วยและได้จดบันทึกความเห็นของนักศึกษาเหล่านั้นไว้ จากนั้นจึงไปค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลอื่นๆ เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์จึงได้นำมาให้อ่านกัน
ศรีลังกาเมื่อพุทธศักราชที่ 1
ตามประวัติศาสตร์ประเทศศรีลังกาเริ่มต้นขึ้นเมื่อเจ้าชายวิชัยโอรสพระเจ้าสีหพาหุแห่งลาฬประเทศ อินเดียใต้ ยกพลขึ้นบกยึดครองเกาะลังกา ตั้งราชวงศ์สิงหลขึ้น ตรงกับวันพุทธปรินิพพานพอดี และศรีลังกาปกครองโดยระบอบกษัตริย์จาก พ.ศ 1 เรื่อยมาโดยเปลี่ยนราชวงศ์ปกครองกันหลายราชวงศ์และสิ้นสุดการปกครองระบบกษัตริย์ในยุคที่อังกฤษปกครองศรีลังกาประมาณ พ.ศ. 2294 จนกระทั่งลังกาได้รับเอกราชเมื่อ พ.ศ. 2491 จึงเรียกชื่อประเทศว่าสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา เป็นอันสรุปได้ว่าระบบกษัตริย์ปกครองศรีลังกาประมาณสองพันกว่าปี
ส่วนประเทศไทยปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ประมาณปี พ.ศ. 1800 จนถึงปัจจุบัน มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกตามรัฐธรรมนูญมาตรา 9 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
พระพุทธศาสนาเข้าสู่ลังกาพร้อมกับในคราวสังคายนาครั้งที่สามประมาณ พ.ศ. 236 พระโสณะอุตตระเดินทางมายังสุวรรณภูมิ ส่วนพระมหินทเถระ เดินทางมายังลังกา พร้อมด้วยพระสี่รูป สามเณรหนึ่งรูป และอุบาสกหนึ่งคน ในรัชสมัยของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ ซึ่งเป็นกษัตริย์ของลังกาและเป็นพระสหายของพระเจ้าอโศกมหาราช
พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะทรงศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้อุทิศมหาเมฆวันอุทยานเป็นวัด เรียกว่า “วัดมหาวิหาร” ถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ พระพุทธศาสนาเข้าสู่ลังกาในยุคนี้ เป็นพุทธศาสนาแบบเถรวาท
พระมหินทเถระได้นำเอาพระไตรปิฎกและอรรถกถาไปสู่ลังกาด้วย การเดินทางไปสู่ลังกาของพระมหินทเถระในครั้งนั้น นอกจากเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแล้ว ยังถือว่าเป็นการปลูกฝังวัฒนธรรมของชาวลังกา เพราะท่านมิเพียงแต่นำเอาพระพุทธศาสนาไปเท่านั้น ท่านยังได้นำเอาอารยธรรม ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม เข้าไปด้วย ลำดับต่อมา พระนางอนุฬาเทวีมเหสีและสตรีบริวารจำนวนมาก ปรารถนาจะอุปสมบทบ้าง พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะจึงทรงส่งคณะทูตไปสู่ราชสำนักของพระเจ้าอโศก ทูลขอพระสังฆมิตตาเถรี และกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ ด้านทักษิณมาสู่ลังกาทวีป และพระนางสังฆมิตตาเถรีเป็นอุปัชญาย์บรรพชาอุสมบทแก่สตรีชาวลังกาได้ตั้งคณะภิกษุณีขึ้นในลังกา
ส่วนในประเทเกาหลีมีหลักฐานว่า พระพุทธศาสนาเริ่มเข้าสู่ประเทศเกาหลีเมื่อ พ.ศ. 915 โดยสมณทูตซุนเตา เดินทางจากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอาณาจักรโกคุริโอ คือ ประเทศเกาหลีในปัจจุบัน พระพุทธศาสนาได้ขยายเข้ามาในเกาหลีอย่างรวดเร็ว เพียง ระยะเวลา 20 ปีก็มีการสร้างวัดขึ้นมากมายเฉพาะเมืองหลวงแห่งเดียว9วัด
ประเทศเกาหลี ในสมัยก่อนนั้นประกอบด้วย 3 อาณาจักรคือ โกคุริโอ ปีกเช และซิลลา แต่ผู้นำทั้ง 3 อาณาจักรก็นับถือพระพุทธศาสนา และให้การสนับสนุนกิจการต่างๆ อันที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเสมอ และที่สำคัญได้ทรงถือว่า “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” เพราะคำสอนของพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ส่งเสริม และให้การศึกษาแก่ประชาชน และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชน พร้อมทั้งสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชาติ พระพุทธศาสนาจึงมีความเจริญรุ่งเรืองตลอดมา
ในปัจจุบันคณะสงฆ์ในประเทศเกาหลีใต้ ถือว่าเป็นคณะสงฆ์ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดปรับตัวให้ทันกับเหตุการณ์ต่างๆอยู่เสมอเพื่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนานั่นเอง กิจการที่พระสงฆ์เกาหลีใต้สนใจ และทำกันอย่างเข้มแข็งจริงจังที่สุดคือ การศึกษา ซึ่งเรื่องนี้เป็นการสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในด้านการศึกษานอกจากจะมีโรงเรียนพระปริยัติธรรมสำหรับสอนพระภิกษุ ภิกษุณี สามเณร และสามเณรี (สตรีที่จะบวชเป็นภิกษุณี)แล้ว คณะสงฆ์เกาหลีใต้ยังมีสถานศึกษาฝ่ายสามัญระดับต่างๆที่เปิดรับนักเรียนชายหญิงโดยทั่วไปด้วย ซึ่งสถาบันเหล่านี้มีคฤหัสถ์(บุคคลทั่วไป)เป็นผู้บริหาร แต่อยู่ในความควบคุมดูแลของคณะกรรมาธิการฝ่ายการศึกษาของคณะสงฆ์ มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดของเกาหลีคือ มหาวิทยาลัยดงกุก ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2449 ปัจจุบันมีนักศึกษาชายทั้งหมด 6,000 คน มีภิกษุสามเณรศึกษาอยู่ด้วยประมาณ 60 รูป
ปัจจุบันศรีลังกามีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ มีกระทรวงพระพุทธศาสนาเพื่อดูแลกิจการพระพุทธศาสนา ในขณะที่ประเทศไม่มีรัฐธรรมนูญกล้าเขียนไว้ว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ก็ยังดีที่มีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีผู้อำนวยการเป็นผู้ดูแล
ในส่วนของการบริหารองค์กรสงฆ์ศรีลังกาย่อมดีกว่าไทยเพราะมีหน่วยงานระดับกระทรวงดูแล แต่ทั้งสองประเทศถือว่าเป็นประเทศที่มีประชากรนับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทมากที่สุดในโลก
ในช่วงที่อังกฤษปกครองศรีลังกานั้น พุทธศาสนาตกต่ำมากเพราะถูกศาสนาคริสต์เบียดเบียนรังแก รุกราน ถูกปฏิบัติเหมือนเป็นพลเมืองชั้นสอง หากรับราชการก็ไม่ก้าวหน้า หากอยากก้าวหน้าก็ต้องเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ นอกจากนั้นยังมีการใช้กลไกของรัฐทำให้สถานภาพของภิกษุสามเณรเสื่อมลง ที่หนักที่สุดคือรัฐประกาศห้ามทำพิธีกรรมในวันสำคัญทางศาสนา ชาวพุทธจึงอยู่อย่างลำบาก แต่ยังดีที่มีพระรูปหนึ่งนามว่าคุณานันทะที่ลุกขึ้นต่อสู้กับนักปราชญ์คริสต์ เพื่อกอบกู้พระพุทธศาสนากลับคืนมาโดยการท้าโต้วาทีกับบาทหลวงในศาสนาคริสต์ มีบันทึกไว้ว่า “การโต้วาทีครั้งนี้ เกิดขึ้นที่สนามกลางเมืองปานะทุระ เริ่มขึ้นในเช้าวันที่ 26 สิงหาคม 2416 สิ้นสุดลงวันที่ 28 เดือนเดียวกัน ผู้แทนฝ่ายคริสต์ชื่อเดวิด เดอซิลวา ได้ยกคำสอนเรื่องอนัตตามากล่าวโจมตี”