วันที่ 2 สิงหาคม 2553 ไปร่วมงานการประชุมระดมความคิดเห็น เพื่อร่วมสร้างประเทศไทยน่าอยู่ โดยสถาบันอุดมศึกษา ณ ห้องประชุมแซฟไฟร์ ชั้นสอง อาคารคอนเวนชั่นเซนเตอร์ อิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ฟังการปาฐกถาของศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วสี ฟังการเสนอความเห็นของคณาจารย์ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ฟังการมอบนโยบายของ ฯพณฯ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี สุดท้ายของการประชุมนายไชยยศ จิรเมธากรรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รับมอบนโยบายเพื่อนำไปปฎิบัติ วันนี้คนสำคัญในวงการอุดมศึกษาไทยไปกันเกือบครบ
ตั้งใจว่าเมื่อกลับถึงวัดจะสรุปประเด็นสำคัญของการประชุมลงเว็บไซต์ แต่พอกลับถึงวัดได้ไม่นาน ก็ได้รับโทรศัพท์จากผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยเสนอประเด็นเกี่ยวกับคำว่า “สัตอภิสิทธิ์” และ “อภิสิทธัตถะ” ขึ้นมา ความจริงวันนี้ผู้เป็นต้นเหตุคือนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรมก็อยู่ในงานด้วย แต่ไม่มีโอกาสได้ถาม วันนี้งดการฟังธรรมในวันธรรมสวนะหนึ่งวัน ขอเขียนเรื่องนี้ก่อน แม้จะไม่ค่อยชอบเรื่องการเมืองสักเท่าไหร่นัก แต่บางครั้งการเมืองก็มาเกี่ยวข้องจนได้
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันที่ 2 สิงหาคม 2553 ลงข่าวที่มีข้อความที่นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม คณะกรรมการปฏิรูป(คปร.) ยกย่องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีโดยใช้คำว่า “สัตตอภิสิทธิ์”และ “อภิสิทธัตถะ” โดยนายไพบูลย์เชื่อว่าตั้งใจดีเพื่อชาติ ย้ำ การปรองดองต้องเริ่มที่นักการเมือง พร้อม แนะยึดหลักสามประการแก้ปัญหาแตกแยก
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อเวลา 09.00 น. ของวันที่ 31 ก.ค. 2553 ที่โรงแรมเมอร์ลิน บีช รีสอร์ท หาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็นประธานการสัมมนากรรมการบริหารและ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคประชาธิปัตย์ ในหัวข้อ “รวมพลังแก้ไขวิกฤตชาติ” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ก.ค.-1 ส.ค. ช่วงเช้ามีการบรรยายในหัวข้อ “อนาคตประเทศไทยบนพื้นฐานความปรองดอง” โดยนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม คณะกรรมการปฏิรูป(คปร.)
ในช่วงท้ายการบรรยาย นายไพบูลย์ ได้กล่าวชื่นชมนายอภิสิทธิ์ว่าส่วนตัวแล้วชื่นชมและให้ความเคารพนับถือนายอภิสิทธิ์ ที่กำลังสร้างความปรองดองมีปณิธานที่ถูกต้องเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศให้ดีกว่า ถ้าทำได้ก็จะเป็นสัตตอภิสิทธิ์คือเป็นคนดี และถ้าทำได้สำเร็จคนเป็นสัตตบุรุษ ซื่อตรงตามภาษาบาลีก็จะเรียกว่า สิทธัตถะ ที่แปลว่าผู้สำเร็จความมุ่งหมายซึ่งไม่ได้ใช้เฉพาะกับพระพุทธเจ้าเท่านั้น เรียกนายอภิสิทธิ์ว่า จาก “สัตตอภิสิทธิ์” เป็น “อภิสิทธัตถะ” ขอเอาใจช่วยนายกฯด้วยความจริงใจ และมีคนไทยจำนวนมากเอาใจช่วยนายกฯ แต่คนไม่ชอบนายกฯ ก็มี ซึ่งเป็นธรรมชาติ เพราะแม้แต่พระพุทธเจ้ายังมีคนไม่ชอบได้ แต่เชื่อว่าคนส่วนใหญ่เอาใจช่วยนายกรัฐมนตรี
นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรมจะบรรยายอย่างไรนั้นเรื่องนี้ไม่ติดใจ แต่ที่เป็นปัญหาคือการที่นายไพบูลย์ยกย่องคุณอภิสิทธิ์ ว่าเป็น “สัตตอภิสิทธิ์” และ “อภิสิทธัตถะ” เรื่องที่จำเป็นต้องทำความเข้าใจก็คือ เรื่องนี้ไม่ควรเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนเสื้อแดง หรือคนที่ไม่ชอบรัฐบาลนี้เพียงอย่างเดียวในการจะเอามาโจมตีคุณอภิสิทธิ์ แต่ควรเป็นเรื่องของผู้เป็นพุทธศาสนิกชนทุกคน ไม่ควรปล่อยให้ผ่านไป
คำแรก “สัตตอภิสิทธิ์” หากแยกศัพท์ตามหลักภาษาบาลีก็จะแยกเป็น สัตตะกับคำว่าอภิสิทธิ์ นายไพบูลย์คงต้องการพูดคำว่า "สัตอภิสิทธิ์" แต่ที่เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์เขียนเป็น "สัตตอภิสิทธิ์" คำว่า “สัต” กับ “สัตต” ตามความหมายในภาษาบาลีสองคำมีความหมายต่างกัน
คำว่า สัตบุรุษ ที่แปลว่าคนดีนั้น เป็นคำที่ใช้ในภาษาสันสกฤต และใช้ในคำแปลของคำบาลีว่า “สปฺปุริส” แปลว่าสัตบุรุษหมายถึงคนดี ผู้ดี ในพระพุทธศาสนากล่าวถึง “สัปปุริสธรรม” หมายถึงธรรมของสัตบุรุษ ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ คุณสมบัติของคนดี ธรรมของผู้ดี มีเจ็ดประการดังที่ปรากฎในสังคีติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค(11/331/22) ประกอบด้วยเป็นผู้รู้จักเหตุ เป็นผู้รู้จักผล เป็นผู้รู้จักตน เป็นผู้รู้จักประมาณ เป็นผู้รู้จักกาล เป็นผู้รู้จักบริษัท เป็นผู้รู้จักบุคคล
ถ้านายไพบูลย์จะใช้ยกย่องนายอภิสิทธิ์ ก็ควรออกเสียงแค่ว่า สัตอภิสิทธิ์ จึงจะหมายความว่า อภิสิทธิ์ที่เป็นคนดี อภิสิทธิ์ที่เป็นผู้ดี แต่ถ้าใช้คำว่า “สัตตอภิสิทธิ์” จะได้ความหมายอีกอย่าง เพราะคำว่า “สัตต” เป็นภาษาบาลี เป็นคำนามแปลว่าสัตว์ ถ้าเป็นสังขยาก็จะแปล เจ็ด หรือหากเป็นกิริยากิตต์ก็จะแปลว่า “ข้องแล้ว” ถ้าแปลตามที่ปรากฎในหนังสือพิมพ์ที่เขียนว่า “สัตตอภิสิทธิ์” ก็ต้องแปลตามภาษาบาลีว่า “สัตว์อภิสิทธิ์” หรือ “อภิสิทธิ์ที่เป็นสัตว์” หรือ “อภิสิทธิ์เจ็ดคน” หรือ “อภิสิทธ์ผู้ข้องแล้ว” อันนี้แปลตามที่ปรากฎในหนังสือพิมพ์
ส่วนอีกคำหนึ่งคือ “อภิสิทธัตถะ” ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คำว่า “สิทธัตถะ” แม้จะมีคนนำมาตั้งชื่อแต่ก็อาจจะมีบ้างในแถบเชิงเขาหิมาลัยหรืออินเดีย แต่ที่ประเทศไทยไม่เคยได้ยินว่ามีใครชื่อสิทธัตถะเลย เพราะถือว่าเป็นพระนามของเจ้าชายสิทธัตถะก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า คนไทยไม่กล้านำคำอันเป็นมงคลนั้นมาตั้งชื่อของคนที่ยังเต็มไปด้วยกิเลส
คำว่า “สิทฺธตฺถ” แปลได้สองความหมาย ถ้าเป็นคำนามเป็นปุงลิงค์แปลว่า “มีความต้องการสำเร็จแล้ว,เจ้าชายสิทธัตถะ” ซึ่งเป็นพระนามที่พราหมณ์ได้ถวายไว้เมื่อวันทำนายพระลักษณะ หลังจากพระกุมารประสูติได้ห้าวัน ถ้าใส่ “ก”เข้ามาอีกตัวเป็น “สิทธตฺถก” เป็นนปุงสกลิงค์ แปลว่า “เมล็ดผักกาด”
นอกจากนี้ มีใช้ในที่แห่งอื่นอีก เช่น คำว่า "สิทธัตถะ" เป็นพระนามของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีต มีปรากฏในพระไตรปิฎก ขุททกนิกาย อปทานหลายแห่ง (32/13/53) เช่นในสีหาสนิวรรคที่สอง สีหาสนทายกเถราปทานที่ 1 ความว่า “เมื่อพระโลกนาถพระนามว่าสิทธัตถะผู้สูงสุดกว่าสัตว์นิพพานแล้วเมื่อพระศาสดา (แผ่)กว้างขวาง เมื่อพระศาสนามีท่านผู้รู้ (พระขีณาสพ) มาก เรามีจิตผ่องใส ใจผ่องแผ้ว ได้ทำราชอาสน์ทองคำ ครั้นทำราชอาสน์ทองคำแล้ว ได้ทำตั่งสำหรับรองเท้า ได้สร้างเรือนสำหรับเก็บราชอาสน์ทองคำนั้นในฤดูฝนด้วยจิตอันเลื่อมใสนั้น เราได้บังเกิดในภพดุสิตวิมานโดยยาว 24โยชน์ โดยกว้าง 14 โยชน์ อันบุญกรรมสร้างอย่างงดงามมีอยู่ในภพสุดิตนั้นเพื่อเรา นางเทพกัญญา 7หมื่นแวดล้อมเราอยู่ทุกเมื่อ และบัลลังก์ทองที่สร้างอย่างวิจิตร มีอยู่ในวิมานของเรา”
ข้อความที่ปรากฎในพระไตรปิฎกนี้แสดงว่า คำว่า “สิทธัตถะ” นอกจากจะเป็นพระนามของพระโอรสพระเจ้าสุทโธทนะ กับพระนางสิริมหามายาซึ่งต่อมาคือพระพุทธเจ้าของเราชาวพุทธทั้งหลายแล้ว ยังเป็นพระนามของพระพุทธเจ้าในอดีตอีกด้วย
นอกจากนี้ คำว่า “สิทธัตถะ” ยังหมายความถึง เมล็ดผักกาดได้อีกด้วย
ดังนั้น คำว่า “สิทธัตถะ” จึงเป็นคำภาษาบาลีที่ควรจะใช้หมายถึงพระพุทธเจ้าบรมศาสดาของพระพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่ใช่คำที่จะไปเรียกเป็นสมัญญานามแก่ใครคนใดคนหนึ่ง โดยเฉพาะคนที่ยังเป็นปุถุชน หนาด้วยกิเลสอย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพราะดูตามการปฏิบัติแล้วแม้จะมีคนยอมรับว่าเป็นคนดีแต่ถึงอย่างไรก็ไม่น่าจะหมดกิเลสไปได้
ยิ่งถ้าเรียกว่า “อภิสิทธัตถะ” ก็จะแปลได้ว่า “สิทธัตถะอย่างยิ่ง”หรือ “ยิ่งกว่าสิทธัตถะ” (คำว่า อภิ แปลว่า ยิ่ง ,ใหญ่ เฉพาะ, ข้างหน้า) เท่ากับยกย่องคุณอภิสิทธิ์ว่ายิ่งใหญ่เหนือไปกว่า “สิทธัตถะ” อันเป็นพระนามของพระพุทธเจ้า
ถึงแม้นายไพบูลย์จะบอกว่าเป็นภาษาบาลี ไม่ได้ใช้เฉพาะกับพระพุทธเจ้าเท่านั้น เรื่องนี้จริงเพราะภาษาบาลีมีใช้ในพระพุทธศาสนาและยังใช้ในภาษาไทยอีกหลายคำภาษาบาลีนั้นคำหนึ่งอาจมีความหมายได้หลายนัย แต่โดยสามัญสำนึกของผู้เป็นพุทธศาสนิกชนแล้ว คำว่า “สิทธัตถะ” หมายถึงพระพุทธเจ้า มากกว่าจะใช้กับคนทั่วไป
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อาจจะยินดีปรีดาและยอมรับคำพูดเรียกว่า “อภิสิทธัตถะ” ของนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เพราะถือว่าเป็นผู้มีภูมิรู้คนหนึ่ง แต่ถ้าเป็นไปได้อยากจะเห็นนายอภิสิทธิ์ออกมาปฏิเสธ หรืออย่างน้อยก็ออกมาปรามคุณไพบูลย์ ว่าอย่าใช้คำอย่างนี้เรียกตัวท่านเลย ท่านไม่เหมาะที่จะรับคำที่ยิ่งใหญ่แบบนี้ เพราะเป็นพระนามหนึ่งของพระพุทธเจ้า ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้กับคนทั่วไป
ถ้าไม่ออกมาปฏิเสธ ก็เท่ากับมีเจตนาเห็นดีด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะก็จะอยู่ในข่ายที่จะเหยียบย่ำ และตีเสมอพระพุทธองค์ เข้าไปอีก ถ้าหากจะมีอะไรๆของนายอภิสิทธิ์ที่จะใช้เรียกว่าเป็น “อภิสิทธัตถะ”ก็คงจะเป็นได้เพียงแค่คำว่า “อภิสิทธัตถะ” ที่แปลว่า “เมล็ดผักกาดที่ยิ่งใหญ่” เท่านั้น แต่คงไม่สามารถจะพูดอย่างนั้นได้เต็มที่นัก โดยสามัญสำนึกของพุทธศาสนิกชน คำว่า “สิทธัตถะ” ไม่ใด้หมายถึงใครคนอื่น ยกเว้นแต่พระพุทธเจ้า
นายไพบูลย์จะรู้สึกยกย่องนับถือนายอภิสิทธิ์แค่ไหนอย่างไร ก็เป็นเรื่องของนายไพบูลย์ จะยกย่องว่าคุณอภิสิทธิ์เป็นเอกบุรุษ รัตนบุรุษ มหาบุรุษ ประชาธิปัตย์บุรุษ หรืออะไรก็แล้วแต่ เชิญยกย่องไปตามสบาย แต่จะเอาคำว่า “สิทธัตถะ” มาใช้เรียกผสมคำกับชื่อนายอภิสิทธิ์ โดยจะมีเจตนาอย่างไรนั้น ไม่ใช่แค่เป็นการยกย่อง แต่เป็นการตีเสมอนายอภิสิทธิ์ว่ามีคุณธรรมเท่ากับพระพุทธเจ้า หรืออาจจะยิ่งกว่าเพราะเป็น “อภิสิทธัตถะ” ชื่อนายกอภิสิทธิ์ก็ไพเราะอยู่แล้ว ไยต้องไปเพิ่มอีกเล่า
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะจะเป็นคนดีอย่างไรก็ตามทีเถิด ถึงอย่างไรก็ยังเป็นปุถุชนคนหนาด้วยกิเลส ไม่อย่างนั้นคงยุบสภาไปนานแล้ว ไม่ดึงดันที่จะอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้นานที่สุดเหมือนที่ปรากฎในปัจจุบัน แผนปรองดองแห่งชาติจะได้ผลหรือไม่ก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าการสร้างความปรองดองทั้งๆที่ยังมีพระราชกำหนดในสภาวการณ์ฉุกเฉินค้ำคออยู่อย่างนี้ คงเป็นไปได้แค่การยืดเวลาอยู่ในตำแหน่งต่อไป
จะยกย่องเชิดชูอย่างไรก็เชิญได้ตามสะดวกคำอื่นมีตั้งมากมายทำไมมาเจาะจงใช้คำนี้ด้วยเล่า ขอยกเว้นไว้อย่างหนึ่งเถอะ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ “อย่ายินดีในการเอาพระนามอันทรงเกียรติของพระพุทธเจ้าอันเป็นพระบรมศาสดาของพระพุทธศาสนา มาใส่ให้กับคนที่ยังหนาด้วยกิเลสตัณหาอย่างนี้เลย” ฟังแล้วแสลงใจชาวพุทธ
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
เปรีญญธรรม 7 ประโยค
03/08/53