หลายปีมาแล้วที่เคยไปประเทศญี่ปุ่น ในช่วงนั้นกล้องถ่ายภาพยังใช้ฟิล์ม แต่ข้อมูลภาพที่อยู่ในฟิล์มถ่ายภาพไม่ได้เก็บรักษาไว้ ข้อมูลที่มีจึงเป็นเพียงความทรงจำบางครั้งขาดๆหายๆไม่ต่อเนื่อง ปัจจุบันโลกปฏิเสธไม่ได้ว่าญี่ปุ่นเป็นชาติที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจมากประเทศหนึ่ง สินค้าทั้งหลายในแต่ละประเทศจะต้องมีสินค้าที่ผลิตจากประเทศญี่ปุ่น แต่ในส่วนของศาสนาญี่ปุ่นมีศาสนาผสมผสานกับวัฒนธรรมดั้งเดิม จนกลายเป็นวัฒนธรรมเฉพาะชนชาติที่ไม่เหมือนชาติใดในโลก ญี่ปุ่นเคารพเทพเจ้าและนับถือศาสนาไปในขณะเดียวกัน
ชาวญี่ปุ่นคงเป็นชาติที่มีความรู้สึกที่ซับซ้อนต่อศาสนามากที่สุดชาติหนึ่ง มีคำกล่าวไว้ในกิจกรรมประจำปีว่า “ปีใหม่ไปไหว้เจ้า ช่วงฮิงัง ในฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วงไปไหว้บรรพบุรุษที่วัด วันคริสต์มาสรับประทานเค้กและให้ของขวัญ” ในส่วนของประเพณีนิยมว่า “ไปนมัสการศาลเจ้าในวันพิธีฉลองครบรอบ 3,5,7 ปี จัดพิธีแต่งงานที่โบสถ์ จัดพิธีศพที่วัด” เป็นการแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายในการนับถือศาสนา
คำว่า “ปีใหม่ไปไหว้เจ้า” หมายถึงการไปเยือนศาลเจ้าชินโตในวันปีใหม่ เพื่อสวดอ้อนวอนขอให้ครอบครัวมีความปลอดภัยและสุขภาพพลานามัยที่ดี ศาลเจ้าที่สำคัญๆคือศาลเจ้าเมจิในโตเกียว คะวะสะขิไดชิ ในจังหวัดคะนะงะวะ,นะริตะซัง ชินโชจิ ในจังหวัดชิบะ
คำว่า “ฮิงัง” หมายถึงการไปประกอบพิธีรำลึกในทางพระพุทธศาสนาและการไปเยือนสุสานประจำ ตระกูล ทำในช่วงเวลาที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากันในฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง อีกอย่าง “ฮิงัง หรือโอะฮิงัง” การบรรลุซึ่งพุทธิปัญญาอินะริ ซึ่งเดิมคือเทพเจ้าแห่งธัญญาหารเป็นที่เคารพบูชาในฟูซิมิชานเมืองเกียวโต
ชินโตอันเป็นศาสนาพื้นเมืองของญี่ปุ่นเป็นศาสนาเพื่อกราบไหว้ขอความคุ้มครองจากเทพเจ้าต่อการเพาะปลูกหรือเผ่าพันธุ์ของตน
ศาสนาพุทธตอนกำเนิดที่อินเดียเป็นศาสนาที่นำไปสู่ความหลุดพ้น แต่เมื่อมาถึงญี่ปุ่นก็ได้กลายเป็นศาสนาสำหรับการสวดมนต์ภาวนาไป ดังนั้นสถาบันศาสนาในญี่ปุ่นจึงกลายเป็นสถาบันเพื่ออธิษฐานให้การค้า รุ่งเรือง คุ้มครองบ้าน สอบเข้าเรียนต่อได้ คลอดลูกปลอดภัย อันล้วนแล้วแต่เพื่อประโยชน์แก่ตนเองในโลกวัตถุปัจจุบันนี้ทั้งสิ้น
ในยุคปัจจุบัน หนุ่มสาวญี่ปุ่นให้ความสนใจมากขึ้นกับลัทธิลี้ลับหรือศาสตร์เกี่ยวกับ อิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ อภินิหาร เป็นผลทำให้ตั้งแต่ปีทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมาได้เกิดกลุ่มลัทธิศาสนาใหม่ๆเล็กๆน้อยๆจำนวนมากมายซึ่งกล่าวอ้าง ถึงพลังอำนาจเหนือมนุษย์หรือปาฏิหาริย์เหนือธรรมชาติขึ้น
จากหนังสือกระจกส่องญี่ปุ่น หน้า 295 ได้เขียนถึงพระพุทธศาสนาในญี่ปุ่นไว้ว่า “ศาสนาพุทธถูกถ่ายทอดมาจากอาณาจักรปักเซ (Packche) ของเกาหลี มายังญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 538 (พ.ศ. 1081) แต่กล่าวกันว่า ก่อนหน้านั้นมีการนับถือพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว โดยผู้เดินทางมาจากภาคพื้นทวีปมายังประเทศญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 5 เป็นผู้นำเข้ามา จากการที่พระพุทธศาสนาถูกถ่ายทอดจากอินเดียผ่านประเทศจีนมายังประเทศญี่ปุ่น
ประมาณปลายคริสศตวรรษที่ 6 เป็นต้นมา พระพุทธศาสนาได้รับการสนับสนุนจากพระราชวงศ์และตระกูลผู้มีอำนาจทางการ ปกครอง มีสถาปัตยกรรมทางพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นมากมายในยุคนี้เช่น เจ้าชายโซโทะขุสร้างวัดโฮริวจิ(Houryuuji) วัดโคฟุคุจิ(Koufukuji) วัดโทไดจิ(Toudaiji) วัดยะคุซิจิ (Yakushiji)วัดโทโซไดจิ(Toushoudaiji) วัดเหล่านี้ถือเป็นสถาปัตยกรรมไม้ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง
พระพุทธศาสนาคือแนวคิดอย่างมีระบบอันแรกที่ถูกนำเข้ามาสู่ประเทศญี่ปุ่น จึงส่งอิทธิพลอย่างมากมายต่อญี่ปุ่นในเวลาต่อมา ในทางวัฒนธรรม อารยธรรม สถาปัตยกรรม ศิลปะอุตสาหกรรมสำริด แพทยศาสตร์ ไปจนถึงเทคโนโลยีทางการเกษตร
ในช่วงกลางสมัยเฮอันเกิดความระส่ำระสายในบ้านเมืองและสังคม เกิดจลาจลก่อการโดยซามูไรแพร่ขยายไปทั่ว นำไปสู่แนวคิดโลกแห่งอนาคต ซึ่งเป็นรากฐานที่ทำให้เกิดพระพุทธศาสนาแนวใหม่สมัยคะมะคุระ นิกายนิฉิเรน (Nichiren) นิกายโจโดะ (Joudo) นิกายโจโด ซินซู (Joudo shinshuu) และนิกายเซน (Zen) ซึ่งเป็นนิกายหลักของพระพุทธศาสนาในปัจจุบันล้วนเกิดขึ้นในสมัยนี้ แต่นิกายเหล่านี้มีการปฏิบัติที่เรียบง่าย แตกต่างจากปรัชญาและแนวคิดของพระพุทธศาสนาในสมัยนะระ คือมีเพียงการท่องบทสวดมนต์สรรเสริญว่า นะมุเมียง โฮเร็นเงะเคียว (Namu myou houren gekyou) หรือ นามุ อะมิดะ บุทสึ (Namu amida butsu) และการทำสมาธิเท่านั้น จึงทำให้มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสเพิ่มขึ้นมากมาย ประกอบกับในสมัยเอะโดะมีการห้ามนับถือศาสนาคริสต์ด้วยการตั้งระบบดังกะ (Danka) ที่บังคับให้ประชาชนต้องลงทะเบียนสังกัดกับวัดใดวัดหนึ่งในท้องถิ่นของตน โดยวัดจะมีหน้าที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตั้งแต่เกิดจนตาย วัดจึงกลายเป็นเสมือนกลไกหนึ่งในการควบควบคุมประชาชนของรัฐบาลในสมัยนั้น
พระพุทธเจ้าที่สำคัญในญี่ปุ่น
1.พระ อมิตาภะพุทธเจ้า ซึ่งเปี่ยมด้วยเมตตา และทรงช่วยให้มนุษย์พ้นทุกข์ในโลกปัจจุบันด้วยการอธิษฐานพระนาม พระพุทธรูปที่สำคัญคือหลวงพ่อโตที่เมืองคะมะคุระ
2.พระไวโรจนะ พุทธเจ้า ผู้ประทานความสว่างเพื่อให้คนเข้าถึงธรรมะ พระพุทธรูปที่สำคัญคือหลวงพ่อโตหรือไดบุทสึที่วัดโทไดจิ เมืองนะระ
3. พระไภสัชชคุรุ เป็นพระพุทธเจ้าผู้ทรงช่วยผู้คนให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ
นอกจากนั้น ชาวญี่ปุ่นยังนับถือพระโพธสัตว์ปางต่างๆอีกเช่น
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระโพธิสัตว์แห่งความเมตตา
พระโพธิสัตว์มัญชุศรี พระโพธิสัตว์แห่งปัญญา
พระโพธิสัตว์สมันตภัทร พระโพธิสัตว์ผู้ทรงช่วยต่ออายุให้ยืนยาว
พระโพธิสัตว์มหาสถามปราบต์ พระโพธิสัตว์ผู้ทรงคุ้มครองผู้คนจากความหลงผิด
พระโพธิสัตว์กษิติครรภ พระโพธิสัตว์ผู้ทรงคุ้มครองผู้คนทั้งในนรกและสวรรค์ (รู้จักไทย เข้าใจญี่ปุ่น: หน้า 27)
ศาสนาของคนญี่ปุ่น
ชาว ญี่ปุ่นนับถือพระพุทธศาสนานิกายมหายานควบคู่ไปกับศาสนาชินโต พระพุทธศาสนาแบ่งออกเป็นหลายนิกายนิกายที่สำคัญมี 5 นิกายดังนี้
1.นิกายเทนได(เทียนไท้) พระไชโจ (เด็งกะโยไดชิ) เป็นผู้ตั้ง มีหลักคำสอนเป็นหลักธรรมชั้นสูง ส่งเสริมให้บูชาพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันและพระโพธิสัตว์
2.นิกายชินงอน พระกุไกเป็นผู้ตั้งในเวลาใกล้เคียงกับนิกายเทนได มีหลักคำสอนตามนิกายตันตระสอนให้คนบรรลุโพธิญาณด้วยการสวดมนต์อ้อนวอนถือ คัมภีร์มหาไวโรจนสูตรเป็นสำคัญ
3.นิกายโจโด(สุขาวดี) โฮเนน เป็นผู้ตั้งเมื่อ พ.ศ.1718 นิกายนี้สอนว่า สุขวดีเป็นแดนอมตสุขผู้จะไปถึงได้ด้วยออกพระนามพระอมิตาภพุทธะ นิกายนี้มีนิกายย่อยอีกมาก เช่น โจโดชิน (สุขาวดีแท้) ตั้งโดยชินแรน มีคติว่า ฮิโชฮิโชกุ ไม่มีพระไม่มีฆราวาส ทำให้พระในนิกายนี้มีภรรยาได้ฉันเนื้อได้ มีความเป็นอยู่คล้ายฆราวาส
4.นิกายเซน (ชยานหรือฌาน) นิกายนี้ถือว่า ทุกคนมีธาตุพุทธะอยู่ในตัว ทำอย่างไรจึงจะให้ธาตุพุทธะนี้ปรากฏออกมาได้ โดยความสามารถของตัวเอง สอนให้ดำเนินชีวิตอย่างง่าย ให้เข้าถึงโพธิญาณอย่างฉับพลัน นิกายนี้คนชั้นสูง และพวกนักรบนิยมมากเป็นต้นกำเนิดของลัทธิบูชิโดนับถือพระโพธิธรรมผู้เผยแพร่ ในประเทศจีน
5.นิกายนิชิเรน นิชิเรนเป็นผู้ตั้งนับถือสัทธรรมปุณฑริกสูตรอย่างเดียวโดยภาวนาว่า นะมึ เมียว โพเรงเงเกียว (นโม สทฺธมฺมปุณฺฑริก สุตฺตสฺส ขอนอบน้อมแด่ สัมธรรม ปุณฑริกสูตร) เมื่อเปล่งคำนี้ออกมาด้วยความรู้สึกว่ามีตัวธาตุพุทธะอยู่ในใจ ก็บรรลุโพธิได้
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีนักการศึกษามากมายพยายามเชื่อมประสานพระพุทธศาสนานิกายต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยจัดตั้งเป็นองค์การขึ้น องค์การสื่อสารสัมพันธ์ระหว่างชาวพุทธที่ใหญ่ที่สุด คือ พุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งญี่ปุ่น ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2500 มีสำนักงานอยู่ที่วัดชุกิจิ ฮองวันจิ ในนครโตเกียวกิจการทางพุทธศาสนาที่สำคัญและมีจุดเด่นก้าวหน้าที่สุดของ ญี่ปุ่น คือ การจัดการศึกษา ซึ่งพระพุทธศาสนานิกายต่างๆ จะมีมหาวิทยาลัย วิทยาลัย โรงเรียนระดับมัธยมและในด้านความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ในปัจจุบันนี้
พระส่วนใหญ่จะมีครอบครัวได้ และตำแหน่งพระยังสืบทอดเป็นมรดกแก่บุตรคนโตได้ด้วย ประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบันเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ประชาชนดำเนินชีวิตด้วยความเร่งรีบเพราะมีการแข่งขันกันมาก ทำให้มีความเครียด และมีปัญหาด้านสุขภาพจิต เป็นโรคประสาท โรคจิต และสถิติการฆ่าตัวตายสูงมาก สิ่งที่จะช่วยบรรเทาความเครียดได้ ก็คือการปฏิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เนื่องจากญี่ปุ่นชอบความเร็วให้ได้ผลทันใจ พระพุทธศาสนานิกายเซนจึงเป็นที่นิยม และมีการสร้างนิกายใหม่ๆ หรือลัทธิใหม่ๆ ที่ปฏิบัติได้ผลรวดเร็วอีกมาก คนญี่ปุ่นส่วนหนึ่งไม่นับถือศาสนาใดเลย แต่ยึดถือลัทธิการเมืองตามความชอบใจของตน สังคมญี่ปุ่นจึงดูเหมือนกับมีศาสนาแต่นับถือศาสนาในฐานะเป็นส่วนเกื้อหนุน ต่อลัทธิทางการเมืองอย่างหนึ่ง
วิถีชีวิตนักบวชญี่ปุ่นแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
(1) กลุ่มที่รักษาพระวินัยอย่างเคร่งครัด ถือเพศพรหมจรรย์ ไม่มีภรรยา
(2) กลุ่มที่ถือบวชแบบครอบครัว มีภรรยาเหมือนชาวบ้านทั่วไป
โซนิน ชินรัน(ค.ศ.1173-1262) เป็นคนแรกที่เสนอว่าพระและวัดไม่สำคัญ แม้จะคงวัดไว้แต่พระมีภรรยาได้ และตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบสายกันอยู่ในตระกูล เป็นเหตุให้ต่อมานิกายอื่นๆเอาอย่าง แต่ระยะแรกๆทำกันอย่างลับๆ จนถึงสมัยเมจิ พระจักรพรรดิโปรดให้พระทุกนิกายเลิกถือพรหมจรรย์ และมีบุตรภรรยาได้อย่างเปิดเผย ชินรันมีภรรยา แต่ยังถือว่าตนเป็นบรรพชิต หากอยู่ร่วมฆราวาส
ชินรันเสนอว่า การบริกรรมมนต์เนมบุตสุ เป็นเพียงความเชื่อในพระอมิตาภะ เป็นการแสดงออกซึ่งกตัญญูกตเวทีต่อพระอะมิตาภะ ถ้าเชื่อมั่นในพระองค์ก็ไม่จำเป็นต้องเอ่ยนามพระองค์ก็ได้ ส่วนการเข้าสู่แดนสุขาวดีด้วยอำนาจของตนเองเป็นไปไม่ได้ ต้องพึ่งพลานุภาพของพระอมิตาภาพุทธเจ้าเท่านั้นจึงจะเกิดในแดนสุขาวดีได้ (ส. ศิวรักษ์ หน้า 192).
ชินรันเป็นสาวกของโฮเน็น เป็นผู้ก่อตั้งนิกายโจโดะซินซู ได้ย้ำว่าพระพุทธองค์นั้นได้เตรียมสวรรค์ไว้ให้แก่ผู้มีใจกุศลและลงโทษผู้มี ใจอกุศล สิ่งที่จำเป็นสำหรับการที่จะได้มาซึ่งการช่วยเหลือให้พ้นทุกข์ก็คือการมี ความเชื่อมั่นศรัทธา คำสอนของท่านทั้งสองเป็นสิ่งที่เข้าใจง่ายสำหรับชาวญี่ปุ่น จึงได้รับความศรัทธาจากประชาชนตั้งแต่นั้นมา (กระจกส่องญี่ปุ่น: หน้า 29)
ลักษณะเด่นของวัฒนธรรมญี่ปุ่น
1.ชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญในรูปธรรมมากกว่านามธรรม ให้น้ำหนักวิธีการมากกว่าหลักการ เช่นการเปลี่ยนศาสนาจากหลักปรัชญามาเป็นการพูดถึงบาปบุญคุณโทษและบุญกุศลใน ชาตินี้, การนำวิธีการของลัทธิขงจื้อมาใช้ในการปกครองหัวเมืองสมัยเอะโดะมากกว่าจะยึด หลักปรัชญามาสั่งสอน หรือแม้แต่ปัจจุบันญี่ปุ่นสนใจวิทยาศาสตร์ประยุกต์มากกว่าวิทยาศาสตร์ บริสุทธิ์
2.วัฒนธรรมญี่ปุ่นเป็นวัฒนธรรมหลากหลาย ญี่ปุ่นนับถือศาสนาไปหมดทั้งพระเจ้า พระพุทธเจ้า
3.วัฒนธรรม ญี่ปุ่นไม่ได้แตกต่างกันไปตามท้องที่ศาสนาหรือแม้แต่ปัจเจกบุคคล ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด นับถือศาสนาอะไร แต่วัฒนธรรมที่ติดตัวเขานั้นแทบจะเหมือนชาวญี่ปุ่นคนอื่นๆ ทุกประการ เปรียบวัฒนธรรมญี่ปุ่นเหมือนขนมคินทาโร (Kintarou- ame) คือไม่ว่าจะตัดตรงไหนก็จะปรากฏภาพของคินทาโรให้เห็น
4.เปลี่ยนวัฒนธรรมอื่นทำให้เป็นของญี่ปุ่น ชาวญี่ปุ่นมักจะแปลวัฒนธรรมที่มาจากภายนอกให้เป็นของญี่ปุ่นเช่นดัดแปลอักษร คันจิจากจีนให้เป็นคะนะ ในส่วนของพระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ญี่ปุ่นตั้งแต่คริสตวรรษที่ 6 แต่เพิ่งจะได้รับการยอมรับว่าไม่ใช่ศาสนานอกญี่ปุ่นโดยโฮเน็นและศิษย์นามว่า ชินรันในสมัยคะมะคุระ (คริสศตวรรษที่ 12-16) โฮเน็น(ค.ศ.1133-1212) ผู้ก่อตั้งนิกายโจโดะ สอนว่าการสวดมนต์ถึงพระพุทธองค์ สามารถไถ่ถอนสิ่งอกุศลได้ทั้งปวง เพียงแต่ท่องเน็มบุทสึ (นะมุ อะมิดะ บุทสึ: ข้าขอสรรเสริญและมอบความเชื่อมั่นศรัทธาแด่พระอะมิดะ) ก็เพียงพอที่จะทำให้ตนได้เข้าไปสู่ดินแดนสุขาวดี ณ เบื้องตะวันตกแห่งองค์อะมิดะ
พระพุทธศาสนาในญี่ปุ่นมีนิกายมากมาย มีผู้บันทึกไว้ว่านิกายที่แยกสาขาออกไปประมาณ 239 สาขานิกาย มีมหาวิทยาลัยทางพระพุทธศาสนาประมาณ 16 แห่ง ปลายปี พุทธศักราช 2537 (ค.ศ.1994) ญี่ปุ่นมีพุทธศาสนิกชนประมาณ 89 ล้านคน พระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมมีรากฐานอันมั่นคงในชนบท ส่วนในเมืองใหญ่ๆจะมีลัทธิใหม่ๆเกิดขึ้นมากมายเช่น โซคะ กักไค สืบเชื้อสายมาจากนิกายนิจิเรน มีผู้นับถือราว 8 ล้านหลังคาเรือน, ลัทธิริชโซ โคเซไค ผู้มีนับถือประมาณ 6 ล้านคน,ลัทธิเรยูไค มีผู้นับถือราว 3 ล้านคน ศาสนาในญี่ปุ่นทุกวันนี้ จึงมีทั้งพระพุทธศาสนาแบบเก่าและนิกายใหม่ๆเกิดขึ้นและเผยแผ่เพื่อสันติภาพ ของโลกและสันติภาพภายในของปัจเจกบุคคล
ในรายงานศาสนาประจำปี ซึ่งตีพิมพ์โดยกรมวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ในปี ค.ศ.1995 (พ.ศ 2538) ญี่ปุ่นมีประชากรประมาณ 120 ล้านคน แต่มีจำนวนประชากรนับถือศาสนาอยู่ 219,830,000 คน หมายความว่าเฉลี่ยแล้วชาวญี่ปุ่นนับถือประมาณคนละ 2 ศาสนา และลัทธิความเชื่ออื่นๆอีกไปพร้อม ๆ กัน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
แก้ไขปรับปรุง 17/05/53