6.อาณัตติศรัทธา หลักปฏิบัติต่อศรัทธา
อาณัตติ หมายถึงการสั่ง แนะนำ ชักชวน ชี้นำ เพื่อจูงใจหรือโน้มน้าวใจให้ยินดีปฏิบัติตามศรัทธาหากขาดปัญญาก็จะเป็นความงมงามดังนั้นศรัทธาจึงต้องเชื่ออย่างมีเหตุผล พระพุทธเจ้าจึงได้แสดงหลักแห่งความเชื่อใน เกสปุตตสูตร อังคุตรนิกาย ติกนิบาต อย่าพึ่งปลงใจเชื่อดังข้อความว่า สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงนิคมของพวกกาลามะชื่อว่า เกสปุตตะพวกชนกาลามโคตร ชาวเกสปุตตนิคมได้สดับข่าวมาว่า พระสมณโคดมศากยบุตรทรงผนวชจากศากยสกุลแล้ว เสด็จมาถึงเกสปุตตนิคมโดยลำดับ ก็กิตติศัพท์อันงามของพระสมณโคดมพระองค์นั้นแล ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ทรงเบิกบานแล้ว ทรงจำแนกธรรมพระองค์ทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วย พระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม พระองค์ทรงแสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลาง ไพเราะในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ก็การได้เห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเห็นปานนั้น ย่อมเป็นความดีแล ครั้งนั้น ชนกาลามโคตร ชาวเกสปุตตนิคมได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคจนถึงที่ประทับ บางพวกถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกประนมมือไปทางพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกประกาศชื่อและโคตรแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกนั่งเฉยๆ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งเมื่อต่างก็นั่งลงเรียบร้อยแล้ว จึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมายังเกสปุตตนิคม สมณพราหมณ์พวกนั้น พูดประกาศแต่เฉพาะวาทะของตัวเท่านั้น ส่วนวาทะของผู้อื่นช่วยกันกระทบกระเทียบ ดูหมิ่นพูดกด ทำให้ไม่น่าเชื่อ พระเจ้าข้า มีสมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งมายังเกสปุตตนิคมถึงพราหมณ์พวกนั้น ก็พูดประกาศแต่เฉพาะวาทะของตนเท่านั้น ส่วนวาทะของผู้อื่นช่วยกันกระทบกระเทียบ ดูหมิ่น พูดกด ทำให้ไม่น่าเชื่อ พระเจ้าข้า พวกข้าพระองค์ยังมีความเคลือบแคลงสงสัยในสมณพราหมณ์เหล่านั้นอยู่ทีเดียวว่า ท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น ใครพูดจริง ใครพูดเท็จ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ก็ควรแล้วที่ท่านทั้งหลายจะเคลือบแคลงสงสัย และท่านทั้งหลายเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในฐานะที่ควรแล้ว มาเถิดท่านทั้งหลายท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำสืบๆ กันมา อย่าได้ยึดถือโดยตื่นข่าวว่า ได้ยินอย่างนี้อย่าได้ยึดถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ยึดถือโดยเดาเอาเอง อย่าได้ยึดถือโดยคาดคะเน อย่าได้เชื่อถือโดยความตรึกตามอาการ อย่าได้ยึดถือโดยชอบใจว่าต้องกันกับทิฐิของตัว อย่าได้ยึดถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศลธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้วเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉนความโลภ เมื่อเกิดขึ้นในภายในบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์หรือเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ พวกชนกาลามโคตรต่างกราบทูลว่า เพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์พระเจ้าข้า ฯเมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียนธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์เพื่อทุกข์เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย เพราะอาศัยคำที่เราได้กล่าวไว้แล้วนั้น เราจึงได้กล่าวไว้ดังนี้ (องฺติก 20/505/179)
หากจะถามว่าคนเช่นใดจึงจะเรียกว่าผู้มีศรัทา มีคำตอบอยู่ในอังคุตตรนิกาย ติกกนิบาตว่า
ทสฺสนกาโม สีลวตํ สทฺธมฺมํ โสตุมิจฺฉติ
วิเนยฺย มจฺเฉรมลํ ส เว สทฺโธติ วุจฺจติ
ผู้ใดใคร่เห็นผู้มีศีล ปรารถนาฟังพระสัทธธรรม กำจัดมลทินคือความตระหนี่ได้, ผู้นั้นแล ท่านเรียกว่าผู้มีศรัทธา (องฺ ติก 20/481/191)
อีกแห่งหนึ่งในมหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค พระพุทธเจ้าทรงสั่งไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอปริหานิยธรรม 7 อีกหมวดหนึ่ง แก่พวกเธอ พวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย (1) พวกภิกษุจักเป็นผู้มีศรัทธา (2) มีใจประกอบด้วยหิริ (3) มีโอตตัปปะ (4) เป็นพหูสูตร (5) ปรารภความเพียร (6) มีสติตั้งมั่น (7) พวกภิกษุจักเป็นผู้มีปัญญา อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียวไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อปริหานิยธรรมทั้ง 7 นี้ จักตั้งอยู่ในหมู่ภิกษุ และหมู่ภิกษุจักสนใจในอปริหานิยธรรม ทั้ง 7 นี้ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น (ทีมหา10/72/93)
หากภิกษุทำตามพระดำรัสที่พระองค์ทรงสั่งไว้ย่อมมีแต่ความเจริญไม่มีเสื่อม ธรรมะข้อแรกที่เป็นเบื้องต้นแห่งความไม่เสื่อมก็คือ “ศรัทธา” นั่นเอง ศรัทธาที่สำคัญที่สุดก็คือตถาคตโพธิสัทธา คือเชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เมื่อเชื่อก็สามารถที่จะศึกษาและเข้าถึงความเป็นพุทธะตามทางที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ดีแล้ว
การตีความศรัทธาตามหลักเทสนาหาระสามารถจัดเข้าได้ทั้งห้าประการคืออัสสาทะ ข้อดี อาทีนวะ ข้อเสีย นิสสรณะ ธรรมเครื่องนำออกจากทุกข์ ผล อานิสงส์ และอาณัติ การแนะนำชักชวน ดังนั้นในสังยุตตนิกาย สคาถวรรคจึงกล่าวไว้ว่า “สทฺธา สาธุ ปติฏฺฐิตา” (สํ ส 15/158/50) ศรัทธาตั้งมั่นแล้วยังประโยชน์ให้สำเร็จ จึงมีนัยยะดังที่แสดงมานี้
ในการอธิบายขยายความ “ธรรมะ” ข้ออื่นๆก็สามารถใช้หลักการของเทสนาหาระไปอธิบายได้ ใครจะทดลองอธิบายธรรมะข้อไหนลองนำไปใช้ดู
บรรณานุกรม
กรมการศาสนาพระไตรปิฏกภาษาบาลี ฉบับสยามรัฐกรุงเทพ ฯ:กรมการศาสนา,2525
กรมการศาสนาพระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับหลวงกรุงเทพ ฯ:กรมการศาสนา,2514
กรมการศาสนาพระไตรปิฏกภาษาไทยพร้อมอรรถกถากรุงเทพฯ:มหามกุฏราชวิทยาลัย,2525
พระธรรมปิฎก (ปอ ปยุตฺโต) พจนานุกรมพุทธศาสตร์ กรุงเทพ ฯ:สหธรรมิก,2545
พระไตรปิฏกซีดีรอม ฉบับเรียนพระไตรปิฎก
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
แก้ไขปรับปรุง 24/06/53
หมายเหตุ: เรื่องนี้นำเสนอไว้เพื่อเป็นหลักอ้างอิงเท่านั้น เนื้อหาทั้งหมดได้มาจากการเรียนวิชา “ศาสตร์แห่งการตีความทางพระพุทธศาสนา” อาจารย์มอบหมายงานให้ทำรายงานภายใต้หัวข้อ “การตีความศรัทธาตามหลักเนตติปกรณ์”ได้คะแนนแค่ “ผ่าน”เท่านั้นเอง อย่าพึ่งพยายามอ่าน หากยังไม่มีขันติธรรมเพียงพอ