ในยุคแรกพระพุทธศาสนาเผยแผ่คำสอนโดยวิธีมุขปาฐะหมายถึงวิธีการบอกเล่าจากปากต่อปาก ยังไม่มีเอกสาร คัมภีร์หรือตำราให้ได้ศึกษาค้นคว้าในปัจจุบัน แต่เชื่อกันว่าพระเถระรูปหนึ่งได้สอนวิธีในการอธิบายขยายความหรือการตีความหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ เพราะบางครั้งก็เป้นข้อความสั้นๆ พระเถระรูปนี้นำมาขยายความให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ต่อมาวิธีการนี้ได้มีผู้รวบรวมจนกลายเป็นคัมภีร์หรือตำราในการอธิบายหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา คัมภีร์เล่มนั้นชื่อว่า “เนตติปกรณ์” โดยนักปราชญ์ในยุคหลังยังคงจารึกนามตามเจ้าของเดิมคือพระมหากัจจายนะซึ่งพระเถระรูปนี้มีชีวิตร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้าและได้รับการยกย่องว่าเป็นเลิศในการเป็นผู้จำแนกอรรถแห่งภาษิตโดยย่อให้พิสดาร
คัมภีร์เนตติปกรณ์ จึงเชื่อกันว่าเป็นผลงานของพระมหากัจจายนะ เป็นคัมภีร์ว่าด้วยหลักหรือวิธีการที่นำไปสู่สัจธรรม หลักหรือวิธีการทำให้บรรลุถึงพระนิพพาน เป็นคู่มือสำหรับตีความพระพุทธพจน์ที่เก่าที่สุด เป็นต้นแบบของการตีความพระพุทธพจน์ในยุคสมัยต่อมา เป็นคัมภีร์ที่แสดงหลักและวิธีอธิบายพระพุทธพจน์ให้อยู่ในกรอบเดียวกัน เนตติปกรณ์ แบ่งเป็น 3 วิภาคคือ (1) หาระ (2) นยะ (3) มูลบท
หาระคือวิธีการกำจัดความไม่รู้ ความสงสัย ความเข้าใจผิดในพระพุทธพจน์ เป็นเครื่องมือสำหรับอธิบายขยายความพระพุทธพจน์ มี 16 วิธีคือ
เทสนา วิจโย ยุตฺติ ปทฏฺฐาโน จ ลกฺขโณ
จตุพฺยูโห จ อาวฏฺโฏ วิภตฺติ ปริวตฺตโน
เววจโน จ ปญฺญตฺติ โอตรโณ จ โสธโน
อธิฏฺฐาโน ปริกฺขาโร สมาโรปโน โสฬส ฯ
หาระทั้ง 16 ประการจากคาถาข้างต้นได้แก่เทสนาหาระ วิจยหาระ ยุตติหาระ ปทัฏฐานหาระ ลักขณหาระ จตูพยูหหาระ อาวัฏฏหาระ วิภัตติหาระ ปริวัตตนหาระ เววจนหาระ ปัญญัตติหาระ โอตรณหาระ โสธนหาระ อธิฏฐานหาระ ปริกขารหาระ สมาปนะหาระ
เทสนาหาระ คือหลักการหรือวิธีการอธิบายขยายความเทศนาหรือพระพุทธพจน์ เพื่อกำจัดความไม่รู้ ความสงสัย ความเข้าใจผิดในเทศนานั้น หรืออาจจะเรียกสั้นๆว่าหลักการของนักเทศน์หรือหลักการของนักเขียนก็ได้ โดยแยกประเภทไว้ 6 ประการคือ
อสฺสาทาทีนวตา นิสฺสรณมฺปิ จ ผลํ อุปาโย จ
อาณตฺตี จ ภควโต โยคีนํ เทสนาหาโร ฯ
อัสสาทะ อาทีนวะ นิสสรณะ ผละ อุปายะ อาณัตติ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า สำหรับผู้บำเพ็ญเพียร ชื่อว่าเทสนาหาระในเทสนาหาระนั้น
นักเทศน์นักแสดงธรรมหรือนักเขียนเมื่อจะอธิบายความของเนื้อหาอย่างหนึ่งอย่างใดจึงต้องมีหลักการตามหลักนักเทศน์หรือหลักนักเขียนคือความดีสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ สิ่งที่เป็นโทษ การออกหรือการสลัดออก ผลที่ควรจะไดรับ อุบายวิธีในการปฏิบัติ บัญญัติคำสั่งข้อห้ามหรือข้อบังคับต่างๆ เมื่ออธิบายได้ตามหลักการนี้แล้วก็เชื่อได้ว่าเป็นการอธิบายธรรมโดยมองครบทุกด้าน ไม่มองอะไรด้านเดียว ต้องมองและอธิบายขยายความตีความให้ครบตามหลักการในเนตติปกรณ์ จึงจะได้ชื่อว่าเป็นนักเทศน์นักแสดงธรรมหรือนักเขียนที่ดีได้
เนื่องจากพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นในยุคโบราณ คนในยุคนั้นมีสภาพพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองแตกต่างจากสังในยุคปัจจุบันมาก การสอนธรรมะในยุคนั้นจึงสอนให้เหมาสมกับยุคสมัยนั้นๆ แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป สังคมเปลี่ยนไป โลกเจริญยิ่งขึ้น แต่ทว่าหลักคำสอนของพระพุทธศาสนายังคงเดิม คำสอนทุกอย่างยังคงถือตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนเมื่อสองพันปี จึงมีผู้อธิบายคำสอนไปตามความเห็นของตน นัยว่าเพื่อให้ง่ายต่อการศึกษาและการปฏิบัติ ดังนั้นจึงมีการแปลความหมายใหม่เช่นครั้งหนึ่งมีคนแปล “ตัณหา” ว่าตัณหามาจากคำสองคำคือ ตัณ และ หา ตัณคือไม่มีทางออก ส่วนคำว่าหาแปลว่าแสวงหา เมื่อนำมารวมกันตัณหาจึงแปลว่า “ทางมันตันเลยหาทางออกไม่ได้ ซึ่งผิดไปจากความมุ่งหมายเดิม ที่คำว่า “ตัณหา” แปลความตามภาษาบาลีว่า ความอยาก ความกระหาย ความดิ้นรน ซึ่งโดยสรุปมีสามประการคือกามตัณหา ภวตัณหาและวิภวตัณหา แต่อาจขยายเป็นตัณหาหกหรือขยายได้เป็นตัณหา 108 ก็ได้
ในยุคแรกของพระพุทธศาสนาบางครั้งพระพุทธองค์แสดงธรรมเพียงสั้นๆแต่มีพระเถระรูปหนึ่งคือพระมหากัจจายนะซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้จำแนกอรรถแห่งภาษิตโดยย่อให้พิสดาร(20/46/24) และเชื่อกันว่าพระมหากัจจายนะได้แต่งตำราว่าด้วยการขยายความย่อให้พิสดารในชื่อว่า “เนตติปกรณ์” ในยุคต่อมาได้ใช้เป็นตำราในการตีความหลักธรรมในพระพุทธศาสนา
ในงานเขียนนี้จะทดลองนำมาใช้ในการตีความและขยายความคำว่า “ศรัทธา”ให้มีความพิสดารออกไป ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดนี้เป็นความเห็นของผู้เขียนคนเดียวผิดหรือถูกประการใดโปรดพิจารณา ในเรื่องการตีความศรัทธาจะแสดงตามเทสนาหาระแสดงไว้หกประการ เทศนาหาระซึ่งเป็นหนึ่งในหาระสิบหก ส่วนหาระอื่นๆหากมีเวลาค่อยอธิบายความกันต่อไป ได้ซึ่งสรุปได้ดังต่อไปนี้
คำเริ่มต้น
สทฺธา ทุติยา ปุริสสฺส โหติ โน เจ อสฺสทฺธิยมวติฏฺฐติ
ยโส จ กิตฺตี จ ตตฺวสฺส โหติ สคฺคญฺจ โส คจฺฉติ สรีรํ ปหายาติ ฯ
ศรัทธาเป็นเพื่อนสองของคน หากว่าความเป็นผู้ไม่มีศรัทธาไม่ตั้งอยู่ แต่นั้นบริวารยศและเกียรติยศย่อมมีแก่เขานั้น อนึ่งเขานั้นละทิ้งสรีระแล้วก็ไปสู่สวรรค์ (สํส15/113/35)
คำขยายความ
คำว่า “ศรัทธา” มาจากภาษาบาลีว่า “สทฺธา” (Saddha, Faith,Confidence) หมายถึง ความเชื่อที่มีเหตุผล มั่นใจในหลักที่ถือและในการดีที่ทำ ความเชื่อถือ ความเชื่อมั่นในสิ่งที่ดีงาม ความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล (พระธรรมปิฎก (ปอ ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์, (กรุงเทพ ฯ:สหธรรมิก,2545) หน้า174)
ศรัทธานั้นท่านจำแนกไว้ในอังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาตว่า ศรัทธาหมายถึงความเชื่อ 4 ประการคือ
1. กัมมสัทธา (เชื่อกรรม, เชื่อกฎแห่งกรรม, เชื่อว่ากรรมมีอยู่จริง คือ เชื่อว่าเมื่อทำอะไรโดยมีเจตนา คือ จงใจทำทั้งรู้ ย่อมเป็นกรรม คือ เป็นความชั่วความดีมีขึ้นในตน เป็นเหตุปัจจัยก่อให้เกิดผลดีผลร้ายสืบเนื่องต่อไป การกระทำไม่ว่างเปล่าและเชื่อว่าผลที่ต้องการจะสำเร็จได้ด้วยการกระทำ มิใช่ด้วยอ้อนวอนหรือนอนคอยโชค เป็นต้น
2. วิปากสัทธา (เชื่อวิบาก, เชื่อผลของกรรม, เชื่อว่าผลของกรรมมีจริง คือ เชื่อว่ากรรมที่ทำแล้วต้องมีผล และผลต้องมีเหตุ ผลดีเกิดจากกรรมดี ผลชั่วเกิดจากกรรมชั่ว
3. กัมมัสสกตาสัทธา (เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน, เชื่อว่าแต่ละคนเป็นเจ้าของ จะต้องรับผิดชอบเสวยวิบากเป็นไปตามกรรมของตน
4. ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า, มั่นในในองค์พระตถาคต ว่าทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงพระคุณทั้ง 9 ประการ ตรัสธรรม บัญญัติวินัยไว้ด้วยดี ทรงเป็นผู้นำทางที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์คือเราทุกคนนี้ หากฝึกตนด้วยดี ก็สามารถเข้าถึงภูมิธรรมสูงสุด บริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ดังที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญไว้เป็นแบบอย่าง องฺสตฺตก23/4/3
พระธรรมปิฎกได้วิเคราะห์ไว้ว่า “ศรัทธา 4 อย่างนี้ มีมาในบาลีเฉพาะข้อที่ 4 อย่างเดียว เช่น อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต (23/4/) ความว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา คือ เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ฯลฯ เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม นี้เรียกว่า ศรัทธาพละ ว่าโดยใจความ ศรัทธา 3 ข้อต้น ย่อมรวมลงในข้อที่ 4 ได้ทั้งหมด อนึ่ง ในข้อ 3 มีข้อธรรมที่มาในบาลีคล้ายกัน คือ กัมมัสสกตาญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน เช่นใน (อภิวิ35/822/443) พระธรรมปิฎก (ปอ ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์, (กรุงเทพ ฯ:สหธรรมิก,2545) หน้า140
อธิบายขยายความตามเทสนาหาระหกประการ
1. อัสสารทศรัทธา ด้านดีของศรัทธา
อัสสาทะ แปลว่าความยินดี ข้อดี ด้านดี สิ่งที่น่ายินดี ด้านดีของศรัทธา ผู้ที่มีศรัทธาก็สามารถจะเป็นเหตุให้บรรลุพระอรหัตได้ดังเรื่องของพระวักกลิในอรรถกถาขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม 1 ภาค 2 ตอน 4 หน้าที่ 392 ความว่าดังได้สดับมา ท่านวักกลิเถระนั้น เกิดในตระกูลพราหมณ์ในกรุงสาวัตถี เจริญวัยแล้ว, เห็นพระตถาคตเสด็จเข้าไปเพื่อบิณฑบาตแลดูพระสรีรสมบัติของพระศาสดาแล้ว ไม่อิ่มด้วยการเห็นพระสรีระสมบัติ, จึงบรรพชาในสำนักพระศาสดา ด้วยเข้าใจว่า เราจักได้เห็นพระตถาคตเจ้าเป็นนิตยกาล ด้วยอุบายนี้ " ดังนี้แล้ว, ก็ยืนอยู่ในที่อันตนยืนอยู่แล้ว สามารถเพื่อจะแลเห็นพระทศพลได้, ละกิจวัตรทั้งหลายมีการสาธยายและมนสิการในพระกัมมัฏฐานเป็นต้น เที่ยวมองดูพระศาสดาอยู่ พระศาสดา ทรงรอความแก่กล้าแห่งญาณของท่านอยู่ จึงไม่ตรัสอะไร ทรงทราบว่า " บัดนี้ ญาณของเธอถึงความแก่กล้าแล้ว " จึงตรัสโอวาทว่า " วักกลิ ประโยชน์อะไรของเธอ ด้วยการเฝ้าดูกายเน่านี้, วักกลิ คนใดแล เห็นธรรม, คนนั้น (ชื่อว่า)เห็นเรา (ผู้ตถาคต); คนใดเห็นเรา (ผู้ตถาคต), คนนั้น (ชื่อว่า)เห็นธรรม " พระวักกลินั้น แม้อันพระศาสดาสอนแล้วอย่างนั้น ก็ไม่อาจเพื่อละการดูพระศาสดาไปในที่อื่นได้เลย
ครั้งนั้นพระศาสดาทรงดำริว่า " ภิกษุนี้ไม่ได้ความสังเวชแล้วจักไม่ได้ตรัสรู้ " เมื่อวัสสูปนายิกสมัยใกล้เข้ามาแล้ว จึงเสด็จไปสู่กรุงราชคฤห์ ในวันเข้าพรรษา ทรงขับไล่ท่านด้วยพระดำรัสว่า" วักกลิ เธอจงหลีกไป "ท่านคิดว่า" พระศาสดาไม่ทรงรับสั่งกะเรา " ไม่อาจเพื่อดำรงอยู่ ณ ที่ตรงพระพักตร์ของพระศาสดาได้ตลอดไตรมาส จึงคิดว่า " ประโยชน์อะไรของเราด้วยชีวิต, เราจักให้ตนตกจากภูเขาเสีย " ดังนี้แล้ว จึงขึ้นภูเขาคิชฌกูฏ พระศาสดาทรงทราบความเมื่อยล้าของท่านแล้ว ทรงดำริว่า " ภิกษุนี้ เมื่อไม่ได้ความปลอบโยนจากสำนักของเรา, พึงยังอุปนิสัยแห่งมรรคและผลทั้งหลายให้ฉิบหาย " จึงทรงเปล่งพระรัศมีไปแล้ว เพื่อจะทรงแสดงพระองค์ ให้ปรากฏ
ลำดับนั้นจำเดิมแต่เวลาท่านเห็นพระศาสดาแล้ว ความเศร้าโศกแม้มากถึงเพียงนั้น หายไปแล้ว พระศาสดา เป็นประดุจว่ายังสระที่แห้งให้เต็มด้วยน้ำ เพื่อทรงยังปีติและปราโมทย์อันมีกำลังให้เกิดแก่พระเถระ จึงตรัสพระคาถานี้ว่า " ภิกษุผู้มากด้วยปราโมทย์ เลื่อมใสแล้วในพระพุทธศาสนา พึงบรรลุสันตบท เป็นที่เข้าไปสงบสังขาร เป็นสุข "
พึงทราบเนื้อความแห่งพระถาคานั้นว่า ภิกษุผู้มากด้วยปราโมทย์ แม้โดยปกติ ย่อมปลูกความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา, ภิกษุนั้น เลื่อมใส (ในพระพุทธศาสนา)แล้วอย่างนั้น พึงบรรลุพระนิพพานในพระพุทธศาสนา อันได้ชื่อว่า" สันตบท เป็นที่เข้าไปสงบสังขาร เป็นสุข "
ก็แลพระศาสดา ครั้นตรัสพระคาถานี้แล้ว ทรงเหยียดพระหัตถ์ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้แก่พระวักกลิเถระว่า " มาเถิด วักกลิ เธออย่ากลัว จงแลดูพระตถาคต,เราจักยกเธอขึ้น เหมือนบุคคลพะยุงช้างตัวจมในเปือกตมขึ้นฉะนั้น มาเถิด วักกลิ เธออย่างกลัว จงแลดูพระตถาคต, เราจักยกเธอขึ้น เหมือนบุคคลที่ช่วยพระจันทร์ที่ถูกเราหูจับ ฉะนั้น "
ท่านยังปีติอย่างแรงกล้าให้เกิดขึ้นแล้วว่า " เราได้เห็นพระทศพลแล้วและได้คำร้องเรียกว่า ' มาเถิด ' จึงคิดว่า " เราพึงไปโดยทางไหนหนอ " เมื่อไม่เห็นทางเป็นที่ไป จึงเหาะขึ้นไปในอากาศในที่เฉพาะพระพักตร์พระทศพล เมื่อเท้าทีแรกตั้งอยู่ที่ภูเขานั่นแล, นึกถึงพระคาถาที่พระศาสดาตรัสแล้ว ข่มปีติได้ในอากาศนั่นแล บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลายแล้ว ถวายบังคมระตถาคตอยู่นั่นแลได้ลงมายืนอยู่สำนักพระศาสดาแล้ว ครั้นในกาลต่อมา พระศาสดา ทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งอันเลิศว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสัทธาธิมุต อขุ ธ เล่ม 1 ภาค 2 ตอน 4 หน้าที่ 392
จะเห็นได้ว่าการปลูกความเลื่อมใสศรัทธาในการพระพุทธเจ้าก็เป็นเหตุให้บรรลุอรหันต์ได้ และพระวักกลิยังได้รับการยกย่องว่าเป็นเลิศในหมู่ผู้หลุดพ้นด้วยศรัทธา ดังนั้นศรัทธาจึงเป็นเพื่อนที่สองของมนุษย์ดังพุทธพจน์ยืนยันว่า
สทฺธา ทุติยา ปุริสสฺส โหติ ปญญา เจนํ ปสาสติ
นิพฺพานาภิรโต มจฺโจ สพฺพทุกฺขา ปมุจฺจตีติ ฯ
ศรัทธาเป็นเพื่อนของคน ปัญญาย่อมปกครองคนนั้น สัตว์ยินดีในพระนิพพานจึงพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ ฯ (สํส 15/175/52)
ศรัทธายังเป็นธรรมที่มีอุปการะมาก เป็นหนึ่งในอริยทรัพย์เจ็ดประการ ดังที่ปรากฎในทีฆนิกาย ปาฏิกวรรคว่า “ธรรม 7 อย่างที่มีอุปการะมากเป็นไฉน ฯ ได้แก่อริยทรัพย์ 7 คือ ทรัพย์คือศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะจาคะ ปัญญา ธรรม 7 อย่างเหล่านี้มีอุปการะมาก (ทีปา11/433/310)
ศรัทธาเป็นข้อแรกในสัปปุริสธรรมดังที่ปรากฎในว่า “ดูกรมหานาม อย่างไร อริยสาวกจึงชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม 7 ประการ คืออริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้(1) เป็นผู้มีศรัทธา คือเชื่อความตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม (2) เป็นผู้มีหิริ คือ ละอายกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ละอายต่อการถึงพร้อมแห่งอกุศลธรรมอันลามก (3) เป็นผู้มีโอตตัปปะ คือ สะดุ้งกลัวกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต สะดุ้งกลัวต่อการถึงพร้อมแห่งอกุศลธรรมอันลามก (4) เป็นพหูสูต ทรงธรรมที่ได้สดับแล้ว สั่งสมธรรมที่ได้สดับแล้ว ธรรมเหล่าใดงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ธรรมทั้งหลายเห็นปานนั้น อันท่านได้สดับมามาก ทรงจำไว้ได้สั่งสมด้วยวาจา ตามเพ่งด้วยใจ แทงตลอดด้วยดี ด้วยความเห็น (5) เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย (6) เป็นผู้มีสติ คือ ประกอบด้วยสติและปัญญาเครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง ระลึกได้ตามระลึกได้ แม้ซึ่งกิจการที่ทำไว้แล้วนาน แม้ซึ่งถ้อยคำที่พูดไว้แล้วนาน (7) เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญา อันเห็นความเกิดและความดับ อันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ดูกรมหานาม อย่างนี้แล อริยสาวกชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม 7 ประการ (ม ม13/31/28)
ศรัทธายังจัดเป็นทรัพย์อันประเสริฐของคนในโลกนี้ดังพระดำรัสระหว่างอาฬวกยักษ์กับพระพุทธเจ้าในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค ยักขสังยุต ดังคำที่อาฬวกยักษ์ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “อะไรหนอ เป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันประเสริฐของคนในโลกนี้ อะไรหนอที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้ อะไรหนอเป็นรสอันล้ำเลิศกว่ารสทั้งหลาย นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตของผู้ที่เป็นอยู่อย่างไร ว่าประเสริฐสุด ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่าศรัทธาเป็นทรัพย์ อันประเสริฐของคนในโลกนี้ ธรรมอันบุคคลประพฤติดีแล้ว นำความสุขมาให้ ความสัตย์แลเป็นรสอันล้ำเลิศกว่ารสทั้งหลายนักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตของผู้ที่เป็นอยู่ด้วยปัญญาว่าประเสริฐสุด ฯ
อาฬวกยักษ์ทูลถามว่าต่อไปว่า “คนข้ามโอฆะได้อย่างไรหนอ ข้ามอรรณพได้อย่างไร ล่วงทุกข์ได้อย่างไร บริสุทธิ์ได้อย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “คนข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา ข้ามอรรณพได้ด้วยความไม่ประมาท ล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร บริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา ฯ (สํส15/840/316)
ศรัทธาจึงเป็นทั้งทรัพย์และเครื่องมือในการข้ามโอฆะได้สมจริงดังพระดำรัสว่า
สทฺธีธ วิตฺตํ ปุริสสฺส เสฏฺฐํ ธมฺโม สุจิณฺโณ สุขมาวหาติ
สจฺจํ หเว สาธุตรํ รสานํ ปญญาชีวึ ชีวิตมาหุ เสฏฺฐนฺติ ฯ
ศรัทธาเป็นทรัพย์ อันประเสริฐของคนในโลกนี้ ธรรมอันบุคคลประพฤติดีแล้ว นำความสุขมาให้ ความสัตย์แลเป็นรสอันล้ำเลิศกว่ารสทั้งหลายนักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตของผู้ที่เป็นอยู่ด้วยปัญญาว่าประเสริฐสุด ฯ
ข้อดีของศรัทธาจึงมีอยู่มากมาย ที่ได้นำเสนอมานี้มีเพียงบางส่วนเท่านั้น ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาได้พรรณาข้อดีของศรัทธาไว้หลายแห่ง
2.อาทีนวศรัทธา ข้อเสียของศรัทธา
อาทีนวะ หมายถึงโทษ ข้อเสีย ด้านเสีย สิ่งที่ไม่น่ายินดี ข้อเสียของศรัทธา การมีเพียงศรัทธาอย่าเดียวทำให้เชื่ออย่างงมงายได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดจากศรัทธาจึงต้องมีปัญญากำกับไว้ด้วย เพราะต้องการจะใช้เชื่ออย่างมีเหตุผลดังที่ปรากฎในพลสูตร อังคุตรนิกาย ปัญจกนิบาต ยืนยันว่าศรัทธาเป็นกำลังอย่างหนึ่งความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย กำลัง 5 ประการคือ กำลังคือศรัทธา กำลังคือหิริ กำลังคือโอตตัปปะ กำลังคือวิริยะ กำลังคือปัญญา (องฺปญฺจก 22/204/276)
อีกแห่งหนึ่งในตติยปัณณาสก์ ผาสุวิหารวรรคที่ 1 เวสารัชชกรณสูตร อังคุตรนิกาย ปัญจกนิบาตว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นเครื่องกระทำความเป็นผู้แกล้วกล้าแห่งภิกษุผู้เสขะ 5 ประการนี้ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศรัทธา เป็นผู้มีศีล เป็นพหูสูต เป็นผู้ปรารภความเพียร เป็นผู้มีปัญญา ความครั่นคร้ามใด ย่อมมีแก่ผู้ไม่มีศรัทธา ความครั่นคร้ามนั้นย่อมไม่มีแก่ผู้มีศรัทธา ฉะนั้น ธรรมนี้จึงชื่อว่าเป็นเครื่องกระทำความเป็นผู้แกล้วกล้าแห่งภิกษุผู้เสขะ ความครั่นคร้ามใดย่อมมีแก่ผู้ทุศีล ความครั่นคร้ามนั้นย่อมไม่มีแก่ผู้มีศีล ฉะนั้น ธรรมนี้จึงชื่อว่าเป็นเครื่องกระทำความเป็นผู้แกล้วกล้าแห่งภิกษุผู้เสขะความครั่นคร้ามใดย่อมมีแก่ผู้ได้ศึกษาน้อย ความครั่นคร้ามนั้นย่อมไม่มีแก่ผู้เป็นพหูสูต ฉะนั้น ธรรมนี้จึงชื่อว่าเป็นเครื่องกระทำความเป็นผู้แกล้วกล้าแห่งภิกษุผู้เสขะ ความครั่นคร้ามใดย่อมมีแก่ผู้เกียจคร้าน ความครั่นคร้ามนั้นย่อมไม่มีแก่ผู้ปรารภความเพียร ฉะนั้น ธรรมนี้จึงชื่อว่าเป็นเครื่องกระทำความเป็นผู้แกล้วกล้าแห่งภิกษุผู้เสขะ ความครั่นคร้ามใดย่อมมีแก่ผู้มีปัญญาทราม ความครั่นคร้ามนั้นย่อมไม่มีแก่ผู้มีปัญญา ฉะนั้น ธรรมนี้จึงชื่อว่าเป็นเครื่องกระทำความเป็นผู้แกล้วกล้าแห่งภิกษุผู้เสขะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นเครื่องกระทำความเป็นผู้แกล้วกล้าแห่งภิกษุผู้เสขะ 5 ประการนี้แล (องฺ ปญญก 22/101/144)
3.นิสสรณศรัทธา ศรัทธานำไปสู่การพ้นทุกข์
นิสสรณะ หมายถึงธรรมเป็นเครื่องนำออกจากวัฏฏทุกข์หรือธรรมที่หลุดออกจากอาทีนวะรวมถึงอัสสาทะได้แล้วได้แก่อริยมรรคและนิพพาน ผู้มีศรัทธาย่อมไม่หวั่นไหวและทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ดังเรื่องของพระมหากาลในอรรถกถา คาถาธรรมบท (อ ขุธ เล่ม 1 ภาค 2 ตอน 1 หน้าที่ 13)ว่า “มีกุฎุมพีชาวเสตัพยนคร 3 พี่น้อง คือ จุลกาล มัชฌิมกาล มหากาล บรรดาพี่น้อง 3 คนนั้นพี่ชายใหญ่และน้องชายน้อยเที่ยวไปในทิศทั้งหลายนำสิ่งของมาด้วยเกวียน 500 เล่ม มัชฌิมกาล ขายสิ่งของที่พี่และน้องทั้งสองนำมา ต่อมาสมัยหนึ่งพี่น้องทั้งสองนั้นบรรทุกสิ่งของต่าง ๆ ด้วยเกวียน 500 เล่มไปสู่กรุงสาวัตถี ปลดเกวียนทั้งหลายในระหว่างกรุงสาวัตถีและพระเชตวัน มีชายแดนติดต่อกัน
มหากาลเห็นอริยสาวกทั้งหลายชาวกรุงสาวัตถี มีมือถือระเบียบดอกไม้และของหอมเป็นต้น ไปเพื่อฟังธรรมในเวลาเย็น จึงถามว่า "ชนเหล่านี้ไปไหนกัน " ได้ฟังความนั้นแล้วคิดว่า "แม้เราก็จักไป" เรียกน้องชายมาแล้วบอกว่า "เจ้าจงเป็นผู้ไม่ประมาทในเกวียนทั้งหลาย, ฝ่ายเราจักไปฟังธรรม" ดังนี้แล้วไปถวายบังคมพระตถาคต นั่งที่สุดบริษัทแล้ว
ในวันนั้นพระศาสดา เมื่อจะตรัสอนุปุพพีกถา ตามอัธยาศัยของมหากาลนั้นจึงตรัสโทษความเลวทรามและความเศร้าหมองแห่งกามทั้งหลาย โดยปริยายเป็นอันมาก ด้วยสามารถแห่งสูตรมีทุกขักขันธสูตรเป็นอาทิ มหากาลได้สดับพระธรรมเทศนานั้นแล้ว จึงคิดว่า "นัยว่าคนเราจำต้องละสิ่งทั้งปวงไป, โภคะและญาติทั้งหลายย่อมไม่ติดตามบุคคลผู้ไปปรโลกเลย, เราจะต้องการอะไรด้วยการครองเรือนเราจักบวชละ, " เมื่อมหาชนถวายบังคมแล้วหลีกไป, ทูลขอบรรพชากะพระศาสดา, เมื่อพระศาสดารับสั่งว่า "ผู้ที่ท่านควรลาไร ๆ ไม่มีหรือ ทูลว่า "น้องชายของข้าพระองค์มี พระเจ้าข้า" เมื่อพระองค์ตรัสว่า "ถ้ากระนั้น เธอจงลาเขาเสีย," ทูลรับว่า "ดีละ พระเจ้าข้า" กลับมาบอกน้องชาย ดังนี้ว่า"พ่อ เจ้าจงปกครองสมบัติทั้งหมดนี้เถิด " จุลลกาลถามว่า "ก็พี่เล่าขอรับ" มหากาลตอบว่า "พี่จักบวชในสำนักของพระศาสดาเขาอ้อนวอนพี่ชายนั้นด้วยประการต่าง ๆ ก็ไม่อาจให้กลับได้, จึงกล่าวว่า "ดีล่ะพี่ ขอพี่จงทำตามอัธยาศัยเถิด" มหากาลไปบวชในสำนักของพระศาสดาแล้ว ฝ่ายจุลกาลก็ไปบวช ด้วยตั้งใจว่า "เราจักชวนพี่ชายสึก"
ในกาลต่อมามหากาลได้อุปสมบทแล้ว เข้าไปเฝ้าพระศาสดาทูลถามถึงธุระในพระศาสนา,เมื่อพระศาสดาตรัสบอกธุระ 2 อย่างแล้ว, ทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักไม่สามารถบำเพ็ญ คันถธุระได้ เพราะข้าพระองค์บวชในกาลเป็นคนแก่, แต่จักบำเพ็ญวิปัสสนาธุระให้บริบูรณ์" ทูลให้พระองค์ตรัสบอกโสสานิกธุดงค์จนถึงพระอรหัต, ครั้นล่วงปฐมยาม เมื่อชนนอนหลับหมดทุกคนแล้ว, ไปสู่ป่าช้า เวลาจวนรุ่ง เมื่อชนทั้งหมด ยังไม่ทันลุกขึ้นเลย กลับมายังวิหาร
ครั้งนั้นหญิงสัปเหร่อคนหนึ่งชื่อกาลี ผู้เฝ้าป่าช้า เห็นที่ยืนที่นั่งและที่จงกรมของพระเถระเข้า คิดว่า" ใครหนอมาในที่นี้ เราจักคอยจับตัว" เมื่อไม่อาจจับได้, วันหนึ่งจึงตามประทีปไว้ที่กระท่อมใกล้ป่าช้า พาบุตรธิดาไปแอบอยู่ในที่ส่วนข้างหนึ่ง เห็นพระเถระเดินมาในมัชฌินยาม จึงไปไหว้แล้วพูดว่า "ท่านผู้เจริญ พระผู้เป็นเจ้าพำนักอยู่ในที่ของพวกดิฉันนี้หรือ " พระเถระตอบว่า “ จ้ะ อุบาสิกา” หญิงนั้นจึงบอกว่า “ท่านผู้เจริญ ธรรมดาผู้อยู่ในป่าช้าทั้งหลาย เรียนระเบียบก่อนจึงควรจะอยู่ในป่าช้า
พระเถระไม่กล่าวว่า "ก็ข้าพเจ้าจักประพฤติในระเบียบที่เจ้าบอกแล้วอย่างไรเล่า " กลับกล่าวว่า "ทำอย่างไรเล่าจึงจะควร อุบาสิกา" อุบาสิกาตอบว่า “ท่านผู้เจริญ ธรรมดาผู้อยู่ในป่าช้าทั้งหลาย ควรแจ้งความที่คนอยู่ในป่าช้า แก่ผู้เฝ้าป่าช้า พระมหาเถระในวิหาร และนายบ้าน
พระเถระถามว่า “เพราะเหตุไรเล่า” อุบาสิกาตอบว่า “ เพราะพวกโจรทำกรรมแล้ว ถูกพวกเจ้าของทรัพย์สะกดตามรอยเท้าไป จึงทิ้งห่อภัณฑะไว้ในป่าช้าแล้วหลบหนีไป เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกมนุษย์ก็รุมกัน ทำอันตรายแก่คนที่อยู่ในป่าช้า แต่เมื่อได้แจ้งความแก่เจ้าหน้าที่เหล่านั้นแล้ว, เจ้าหน้าที่เหล่านั้นย่อมช่วยกันป้องกันอันตรายได้ ด้วยกล่าวรับรองว่า 'พวกข้าพเจ้าทราบความที่ท่านผู้เจริญนี้อยู่ในที่นี้สิ้นกาลประมาณเท่านี้, ท่านผู้เจริญรูปนี้มิใช่โจร เพราะฉะนั้น ควรบอกแก่เจ้าหน้าที่เหล่านั้น
พระเถระจึงถามว่า กิจอื่นอะไรเล่าที่ข้าพเจ้าควรทำ หญิงนั้นจึงบอกว่า “ท่านผู้เจริญ ธรรมดาพระผู้เป็นเจ้าผู้อยู่ในป่าช้า จำต้องเว้นวัตถุทั้งหลายมี ปลา เนื้อ แป้ง งา และน้ำอ้อยเป็นต้นเสีย, ไม่ควรจำวัดกลางวัน ไม่ควรเป็นผู้เกียจคร้าน ควรปรารภความเพียร,ควรเป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่ใช่เจ้าเล่ห์ เป็นผู้มีอัธยาศัยงาม, เวลาเย็นเมื่อชนหลับหมดแล้ว พึงมาจากวิหาร, เวลาจวนรุ่ง เมื่อหมู่ชนทุกคนยังไม่ตื่นนอนเลยพึงไปวิหาร, ท่านผู้เจริญ ถ้าพระผู้เป็นเจ้าอยู่ในที่นี้ด้วยอาการอย่างนี้ ไซร้ จักอาจยังกิจแห่งบรรพชิตให้ถึงที่สุดได้,ถ้าหมู่ชนนำศพมาทิ้ง, ดิฉันจะยกขึ้นสู่เรือนยอดอันดาดด้วยผ้ากัมพล ทำสักการะด้วยวัตถุทั้งหลาย มีของหอมและระเบียบดอกไม้เป็นต้นแล้วจักทำการปลงศพ, ผิว่า พระผู้เป็นเจ้าจักยังไม่อาจเพื่อยังกิจแห่งบรรพชิตให้ถึงที่สุดได้ไซร้, ดิฉันจะยกขึ้นสู่เชิงตะกอนแล้วติดไฟเผา เอาขอเกี่ยวลากศพออกมาวางไว้ภายนอก ทอนด้วยขวาน เฉือนให้เป็นชิ้นน้อยชิ้นใหญ่แล้วใส่ในไฟ แสดงแก่ท่านพระผู้เป็นเจ้าแล้วจึงค่อยเผา พระเถระสั่งนางกาลีนั้นว่า "ดีละนางผู้เจริญ ก็นางเห็นรูปารมณ์อย่างหนึ่งแล้ว จงบอกแก่ข้าพเจ้านะ" นางกาลีรับว่า " จ้ะ" พระเถระทำสมณธรรมอยู่ในป่าช้าตามอัธยาศัยของตน
ส่วนพระจุลกาลเถระ ผุดลงผุดนั่ง รัญจวนถึงฆราวาส คิดถึงบุตรและภรรยา คิดว่า "พี่ชายของเรานี้ ทำกรรมหนักยิ่ง" ลำดับนั้น กุลธิดาคนหนึ่งได้ทำกาละในเวลาเย็น ซึ่งยังมิทันเหี่ยวแห้ง ซูบซีด เพราะพยาธิกำเริบขึ้นในครู่เดียวนั้น พวกญาติหามศพกุลธิดานั้นไปสู่ป่าช้าในเวลาเย็น พร้อมด้วยเครื่องเผาต่าง ๆ มีฟืนและน้ำมันเป็นต้น ให้ค่าจ้างแก่หญิงเฝ้าป่าช้าำว่า " นางจงจัดการเผาศพนี้" ดังนี้แล้ว มอบศพให้แล้วหลีกไป นางเปลื้องผ้าห่มของกุลธิดานั้นออกแล้ว เห็นสรีระซึ่งตายเพียงครู่เดียวนั้น แสนประณีต มีสีดังทองคำ จึงคิดว่า "อารมณ์นี้ควรจะแสดงแก่พระผู้เป็นเจ้า" แล้วไปไหว้พระเถระกล่าวว่า ท่านเจ้าข้า อารมณ์ชื่อเห็นปานนี้ มีอยู่, ขอพระคุณเจ้าพึงไปพิจารณาเถิด" พระเถระรับว่า "จ้ะ" ดังนี้แล้วไป ให้เลิกผ้าห่มออกแล้วพิจารณาตั้งแต่ฝ่าเท้าถึงปลายผมแล้ว พูดว่า "รูปนี้ประณีตยิ่งนัก มีสีดุจทองคำ, นางพึงใส่รูปนั้นในไฟ ในกาลที่รูปนั้นถูกเปลวไฟใหญ่ลวกแล้ว จึงบอกแก่ข้าพเจ้า" ดังนี้แล้ว ไปยังที่อยู่ของคนนั่นแล นั่งแล้ว นางทำอย่างนั้นแล้ว จึงแจ้งแก่พระเถระ พระเถระไปพิจารณาในที่ถูกเปลวไฟกระทบแล้ว ๆ สีแห่งสรีระได้เป็นดังแม่โคด่าง เท้าทั้งสองงอหงิกห้อยลง มือทั้งสองกำเข้า หน้าผากได้มีหนังปอกแล้ว
พระเถระพิจารณาว่า"สรีระนี้เป็นธรรมชาติทำให้ไม่วายกระสันแก่บุคคลผู้แลดูอยู่ในบัดเดี๋ยวนี้เอง, แต่บัดนี้กลับถึงความสิ้นถึงความเสื่อมไปแล้ว" กลับไปที่พักกลางคืน นั่งพิจารณาถึงความสิ้นและความเสื่อมอยู่ กล่าวคาถาว่า "สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีอันเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา, เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ความสงบแห่งสังขารนั้นเป็นสุข"
เจริญวิปัสสนาได้บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลายเมื่อท่านบรรลุพระอรหัตแล้ว, พระศาสดามีภิกษุสงฆ์แวดล้อมเสด็จจาริกไปยังเสตัพยนครแล้ว เสด็จเข้าสู่ป่าไม้ประดู่ลาย พวกภรรยาของพระจุลกาล ได้ยินว่า "ข่าวว่า พระศาสดาเสด็จมาถึงแล้ว" คิดว่า "พวกเราจักช่วยกันจับสามีของพวกเรา "ดังนี้แล้ว ส่งคนไปให้ทูลอาราธนาพระศาสดา
ก็ในสถานที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ทรงคุ้นเคย ควรที่ภิกษุรูปหนึ่งผู้บอกการปูอาสนะจะต้องล่วงหน้าไปก่อน ก็อาสนะสำหรับพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงให้ปูในที่ท่ามกลาง, อาสนะสำหรับพระสารีบุตรเถระพ่อให้ปูข้างขวา, อาสนะสำหรับพระมหาโมคคัลลานเถระ พึงให้ปูข้างซ้ายแห่งอาสนะของพระพุทธเจ้านั้น, อาสนะสำหรับภิกษุสงฆ์พึงให้ปูในข้างทั้งสองถัดจากที่นั้นไป เพราะฉะนั้น พระมหากาลเถระพักอยู่ในที่ ห่มจีวร ส่งพระจุลกาลไปว่า "เธอจงล่วงหน้าไปบอกการปูอาสนะ"
พวกชนในเรือน ทำการเสสรวลกับท่าน จำเดิมแต่กาลที่พวกเขาเห็นท่านแกล้งปูอาสนะต่ำในที่สุดพระสังฆเถระ ปูอาสนะสูงในที่สุดของสังฆนวกะ พระจุลกาลนอกนี้ ชี้เเจงว่า"พวกเจ้าจงอย่าทำอย่างนั้น, จงปูอาสนะสูงในที่สูง ปูอาสนะต่ำในที่ต่ำ" พวกหญิง ทำที่เหมือนไม่ได้ยินถ้อยคำของท่าน รุมกันว่า "ท่านเที่ยวทำอะไรอยู่ หน้าที่ให้ปูอาสนะไม่สมควรแก่ท่านหรือ ท่านลาใครบวช ท่านใครเป็นผู้ยอมให้บวช มาในที่นี้ทำไม " ดังนี้แล้วช่วยกันฉุดสบงและจีวรออกแล้ว ให้นุ่งผ้าขาว สวมเทริดมาลาบนศีรษะแล้วส่งไปด้วยคำว่า "เธอจงไปนำเสด็จพระศาสดามา, พวกข้าพเจ้าจะปูอาสนะ"
จุลกาลดำรงอยู่ในภาวะแห่งภิกษุสิ้นกาลไม่นาน ยังไม่ทันได้พรรษาก็สึกจึงไม่รู้สึกอาย, เพราะฉะนั้นเขาจึงหมดความรังเกียจด้วยกิริยาอาการนั้นเสียทีเดียว ไปถวายบังคมพระศาสดาแล้ว พาภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขมา
ในกาลเสร็จภัตกิจของภิกษุสงฆ์ พวกภรรยาของพระมหากาลคิดกันว่า "หญิงพวกนี้ รุมจับสามีของตนได้ พวกเราก็จักจับสามีของพวกเราบ้าง" จึงให้นิมนต์พระศาสดา เพื่อประโยชน์แก่การเสวยภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น
ในกาลนั้น ภิกษุรูปอื่นได้ไปชี้แจงให้ปูอาสนะ หญิงเหล่านั้นไม่ได้โอกาสในขณะนั้น อาราธนาภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขให้นั่งแล้ว ได้ถวายภิกษา, ก็จุลกาลมีภรรยา 2 คน มัชฌิมกาลมี 4 คน, มหากาลมี 8 คน, ฝ่ายภิกษุทั้งหลายใคร่ทำภัตกิจ ได้นั่งทำภัตกิจแล้ว, พวกที่ใคร่ไปภายนอกก็ได้ลุกไปแล้ว;ส่วนพระศาสดาประทับนั่งทรงทำภัตกิจ ในกาลเสร็จภัตกิจของพระองค์ หญิงเหล่านั้นทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระมหากาลทำอนุโมทนาแก่พวกข้าพระองค์แล้ว จึงจักไป, ขอพระองค์เสด็จไปก่อนเถิด"
พระศาสดาตรัสว่า " ดีละ" ได้เสด็จล่วงหน้าไปแล้ว ครั้นถึงประตูบ้านภิกษุสงฆ์ก็ยกโทษว่า"ทำไมพระศาสดาจึงทรงทำเช่นนี้ี่ พระองค์ทรงทราบแล้วจึงทรงทำหรือไม่ทรงทราบแล้วทรงทำหนอ วานนี้อันตรายแห่งบรรพชาเกิดขึ้นแก่จุลกาล เพราะการล่วงหน้าไปก่อน, วันนี้ อันตรายมิได้มี เพราะภิกษุอื่นล่วงหน้าไปก่อน, บัดนี้ พระศาสดา รับสั่งให้พระมหากาลยับ1ยั้งอยู่ แล้วเสด็จมาก็ภิกษุผู้มีศีล ถึงพร้อมแล้วด้วยอาจาระ หญิงเหล่านั้นจักทำอันตรายแห่งบรรพชาแก่พระมหากาลนั้นได้ละหรือ "
พระศาสดาทรงสดับคำของภิกษุเหล่านั้นแล้ว เสด็จกลับมาประทับยืนอยู่ ตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอกล่าวอะไรกัน " ภิกษุเหล่านั้น ทูลความนั้นแล้วภิกษุทั้งหลาย ก็พวกเธอสำคัญมหากาลเหมือนจุลกาลหรือ ภิกษุตอบว่าอย่างนั้นพระเจ้าข้า เพราะจุลกาลนั้นมีภรรยา 2 คน ส่วนพระมหากาลนี้ มีถึง 8 คน, เธอถูกภรรยาทั้ง 8 รุมจับไว้แล้วจักทำอะไรได้ พระเจ้าข้า
พระศาสดาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าได้กล่าวอย่างนั้น,จุลกาล ลุกขึ้น ลุกขึ้นพร้อมแล้ว มากไปด้วยอารมณ์ว่างามอยู่ เป็นเช่นกับต้นไม้ที่มีกำลังไม่แข็งแรง ตั้งอยู่ริมเหวและเขาขาด, ส่วนมหากาลบุตรของเรา ตามเห็นอารมณ์ว่าไม่งามอยู่ เป็นผู้ไม่หวั่นไหวเลย เหมือนภูเขาหินแท่งทึบ" ดังนี้แล้ว ได้ภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า
สุภานุปสฺสึ วิหรนฺตํ อินฺทฺริเยสุ อสํวุตํ
โภชนมฺหิ อมตฺตญฺญุ กุสีตํ หีนวีริยํ
ตํ เว ปสหติ มาโร วาโต รุกฺขํว ทุพฺพลํ
อสุภานุปสฺสึ วหรนฺตํ อินฺทฺริเยสุ สุสํวุตํ
โภชนมฺหิ จ มตฺตญฺญุ สทฺธํ อารทฺธวีริยํ
ตํ เว นปฺปสหติ มาโร วาโต เสลํว ปพฺพตํ
"ผู้ตามเห็นอารมณ์ว่างาม ไม่สำรวมในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้ประมาณในโภชนะ เกียจคร้าน มีความเพียรเลวทรามอยู่ ผู้นั้นแล มารย่อมรังควานได้, เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีกำลังไม่แข็งแรง ลมรังควานได้ฉะนั้น
ส่วนผู้ตามเห็นอารมณ์ว่าไม่งาม สำรวมดีในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้ประมาณในโภชนะ มีศรัทธาและปรารภความเพียรอยู่ ผู้นั้นแล มารย่อมรังควานไม่ได้, เปรียบเหมือนภูเขาหิน ลมรังควานไม่ได้ ฉะนั้น" (ขุสุ 25/11/16)
พระมหากาลเหาะหนีภรรยาพวกหญิงแม้เหล่านั้นแลที่เป็นภรรยาเก่าของพระมหากาลนั้นล้อมพระเถระเเล้ว กล่าวคำเป็นต้นว่า "ท่านลาใครบวช บัดนี้ท่านจักเป็นคฤหัสถ์หรือจักไม่เป็นเล่า " ได้เป็นผู้ใคร่เพื่อจะเปลื้องผู้กาสายะทั้งหลายของพระเถระออกพระเถระกำหนดลาการของหญิงเหล่านั้นได้แล้ว ลุกจากอาสนะที่นั่งแล้วเหาะไปด้วยฤทธิ์ ทำลายช่อฟ้าเรือนยอดไปทางอากาศ เมื่อพระศาสดาพอตรัสพระคาถาจบลง ชมเชยพระสรีระของพระศาสดาซึ่งมีวรรณะดังทองคำ ลงมาถวายบังคมพระบาทยุคลของพระตถาคตแล้ว ในกาลจบคาถาภิกษุผู้ประชุมกันดำรงอยู่ในอริยผลทั้งหลายมีโสดาปัตติผลเป็นต้น
ภิกษุผู้ปรารภความเพียรจึงทำตนให้พ้นจากทุกข์ได้ ดังตัวอย่างของพระมหากาล แม้จะถูกภรรยาเก่าพยายามจะจับสึกก็เอาตัวรอดพ้นมาได้เพราะเป็นผู้ตามเห็นอารมณ์ว่าไม่งาม สำรวมดีในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้ประมาณในโภชนะ มีศรัทธาและปรารภความเพียร มีศรัทธามั่นคงและปรารภความเพียรย่อมไม่หวั่นไหวไม่มีอะไรมารังควานได้
ศรัทธายังเป็นธรรมทำให้แกล้วกล้าได้ดังที่ปรากฎในสารัชชสูตร อังคุตรนิกาย ปัญจก ความว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม 5 ประการนี้ ย่อมเป็นผู้แกล้วกล้า ธรรม 5 ประการคือภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา เป็นผู้มีศีล เป็นผู้ได้สดับมาก เป็นผู้ปรารภความเพียร มีปัญญา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม 5 ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้แกล้วกล้า (องฺ ปญญจก 22/158/205)
ผู้มีศรัทธาจึงเป็นเหตุหนึ่งที่นำออกจากทุกข์ได้ ถ้าหากพระมหากาลขาดศรัทธาในพระพุทธศาสนา มีศรัทธาไม่ตั้งมั่นแล้ว ก็ไม่อาจจะดำรงตนอยู่ในศาสนาได้ และอาจถูกภรรยาเก่าจับสึกเหมือนจุลลกาลน้องชายที่มีศรัทธาไม่มั่นคงออกบวชเพราะหวังจะชวนพี่ชายให้ลาสิกขา