พระพุทธศาสนามีเรื่องเล่าที่เกี่ยวเนื่องกับโลกอื่น เป็นภพภูมิของสัตว์เหล่าอื่น บางครั้งเอื้อต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา บางครั้งอาจทำให้คนที่มีแต่ศรัทธาโดยไม่ได้พึ่งพิงปัญญาหลงทางได้ง่ายๆ การอธิบายภพภูมินั้น ในอดีตบุรพาจารย์สามารถเล่าเรื่องผ่านงานศิลปะเช่นจิตรกรรม ประติมากรรม เป็นต้น และคนในยุคนั้นก็สามารถเสพได้ทั้งความงามและคติธรรมที่แฝงเร้นอยู่ในงานศิลปะนั้นๆ ศิลป์จึงเป็นเหมือนคลังในการเก็บสุนทรีย์และเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ไปพร้อมๆกัน
คำว่า "ศิลปะ" หมายถึงสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นจากชีวิตจิตใจ ความรู้ความสามารถและความชำนาญของตน แล้วถ่ายทอดความเข้าใจอันลึกซึ้งเหล่านั้นออกมาเป็นผลงานที่มีความงดงามและทรงคุณค่าแก่มหาชน ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตให้คำนิยามไว้ว่า “การประดับ ฝีมือทางการช่าง การแสดงออกให้เห็นถึงอารมณ์และสะเทือนใจ" (ราชบัณฑิตยสถาน,พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525,(พิมพ์ครั้งที่ 4), กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสภา ,2525,หน้า 771)
การเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้รับการปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัยมาโดยตลอด ในยุคที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่นั้น เมื่อใครอยากรู้เรื่องพระพุทธศาสนาก็ต้องเดินทางไปฟังจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าเองหรือจากปากของพระสงฆ์รูปอื่นๆ จากนั้นมาก็มีการเขียนภาพตามถ้ำต่างๆ ในยุคต่อมาได้มีการจารึกเป็นตัวอักษรลงในใบลาน ทำให้ง่ายต่อการศึกษาคือหาอ่านได้ เมื่อมีการพิมพ์เป็นหนังสือก็ยิ่งง่ายต่อการศึกษา พอมาถึงยุคปัจจุบันพระพุทธศาสนาได้แพร่หลายในโลกอินเทอร์เน็ต ประเทศไทยก่อนที่จะมีการพิมพ์หนังสือการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่สำคัญอย่างหนึ่งคือจิตรกรรมฝาผนัง
สิ่งที่สร้างขึ้นจากศิลปะเรียกว่าศิลปกรรมแบ่งออกเป็นห้าประเภทคือ(1)สถาปัตยกรรม การสร้างอาคารสถานที่ อนุสาวรีย์โบสถ์วิหาร (2)ประติมากรรม การปั้น การแกะสลัก การหล่อรูป (3)จิตรกรรม การวาด การเขียนภาพ การระบายสีภาพ (4) ดุริยางคศิลป์ การขับร้อง ฟ้อนรำ นาฏศิลป์ ดนตรีไทย (5) ภาษาและวรรณคดี (วาสนา บุญสม,ศิลปวัฒนธรรมไทยสายใยจากอดีต, กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์ปิรามิด,2548,หน้า 8.)
พุทธศิลป์จึงหมายถึงศิลป์ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนามีทั้งสถาปัตยกรรมคือโบสถ์วิหาร ประติมากรรมคือพระพุทธรูป จิตรกรรมคือภาพเขียน และภาษาและวรรณคดีที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา
เทพและภพภูมิมีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับพุทธศิลป์อย่างแยกไม่ออก คำว่าเทพนั้นในพระพุทธศาสนาได้จำแนกไว้สามประเภทดังที่ปรากฏในขุทกนิกาย จูฬนิเทสว่า“เทพมีสามคือสมมติเทพ อุปบัติเทพ วิสุทธิเทพ สมมติเทพเป็นไฉน พระราชา พระราช กุมารและพระเทวี เรียกว่า สมมติเทพ อุปบัติเทพเป็นไฉน เทวดาชาวจาตุมหาราชิกา เทวดาชาวดาวดึงส์ เทวดาชาวยามา เทวดาชาวดุสิต เทวดาชาวนิมมานรดี เทวดาชาวปรนิมมิตวสวัตดี เทวดาที่นับเนื่องในหมู่พรหมและเทวดาในชั้นที่สูงกว่า เรียกว่าอุปบัติเทพ วิสุทธิเทพเป็นไฉน พระอรหันตขีณาสพสาวกของพระตถาคต และพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า เรียกว่า วิสุทธิเทพ (ขุ.จู 30/214/85.)
ส่วนภพนั้นท่านระบุไว้ในมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ว่า ภพมีสามคือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ (ม.มู.122/498382.)
ภูมิพระพุทธศาสนาจำแนกเป็นสี่ภูมิดังที่ปรากฏในขุททกนิกาย ปาฏิกวรรคว่า “ภูมิ 4 คือ กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ โลกุตรภูมิ ก็กามาวจรภูมิเป็นไฉน ขันธ์ ธาตุ อายตนะ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันท่องเที่ยว คือ นับเนื่องในโอกาสนี้ ข้างล่างตลอดไปจนถึงอเวจีนรกเป็นที่สุด ข้างบนขึ้นไปจนถึงเทวดาชาวปรนิมมิตวสวดีเป็นที่สุดนี้เป็นกามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิเป็นไฉน ธรรม คือ จิตและเจตสิกของบุคคล ผู้เข้าสมาบัติ ของบุคคลผู้เกิดในพรหมโลก หรือของท่านผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน อันท่องเที่ยวคือ นับเนื่องโอกาสนี้ ข้างล่างตั้งแต่พรหมโลกขึ้นไปจนถึงเทวดาชั้นอกนิฏฐ์ข้างบนเป็นที่สุด นี้ชื่อว่ารูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิเป็นไฉน ธรรม คือ จิตและเจตสิกของบุคคลผู้เข้าสมาบัติ ของบุคคลผู้เกิดในพรหมโลก หรือของท่านผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน อันนับเนื่องในโอกาสนี้ ข้างล่างตั้งแต่เทวดาผู้เข้าถึงชั้นอากาสานัญจายตนภพ ตลอดขึ้นไปจนถึงเทวดาผู้เข้าถึงชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนภพข้างบนเป็นที่สุด นี้ชื่อว่าอรูปาวจรภูมิ โลกุตรภูมิเป็นไฉน มรรค ผล และนิพพานธาตุอันปัจจัยไม่ปรุงแต่ง อันเป็นโลกุตระ นี้ชื่อว่าโลกุตรภูมิ ภูมิ 4 เหล่านี้ (ขุ.ปฏิ.31/171-175/66.)
ในกามาวจรภูมิยังแบ่งย่อยออกไปได้อีกศิลปินได้นำแนวคิดเรื่องภพภูมิมาใช้งานพุทธศิลป์ที่นิยมมากคือเรื่องเกี่ยวกับนรกสวรรค์เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้สอนคนได้ง่าย โดยเฉพาะเรื่องนรกสวรรค์มีปรากฏในพระไตรปิฎกหลายแห่ง ท่านแสดงนรกไว้แปดขุมว่า นรชนผู้ประพฤติอธรรม มีความ เป็นอยู่ไม่สม่ำเสมอ ละโลกนี้แล้วย่อมไปสู่คติใด อาตมภาพจะกล่าวคติ คือนรกเหล่านั้น ขอพระองค์ทรงสดับอาตมภาพเถิด นรก 8 ขุมนี้ คือ สัญชีวนรก กาฬสุตตนรก สังฆาตนรก โรรุวนรก มหาโรรุวนรก ต่อมาถึงมหาอเวจีนรก ตาปนนรก ปตาปนนรก อันบัณฑิตทั้งหลายกล่าวไว้แล้ว ก้าวล่วงได้ยากเกลื่อนกล่นไปด้วยเหล่าสัตว์ ผู้มีกรรมหยาบช้าเฉพาะขุมหนึ่งๆ มีอุสสทนรก 16 ขุมเป็นที่ทำบุคคลผู้กระด้างให้เร่าร้อน น่ากลัว มีเปลวเพลิงรุ่งโรจน์ มีภัยใหญ่ขนลุกขนพอง น่าสพึงกลัว มีภัยรอบข้าง เป็นทุกข์ มี 4 มุม 4 ประตู จัดแบ่งไว้เป็นส่วนๆ มีกำแพงเหล็กกั้นโดยรอบมีฝาเหล็กครอบ ภาคพื้นของนรกเหล่านั้นล้วนแต่เหล็กแดงลุก โพลง ประกอบด้วยเปลวไฟ แผ่ไปตลอด 100 โยชน์โดยรอบ ตั้งอยู่ทุกเมื่อ สัตว์ทั้งหลายมีเท้าในเบื้องบน มีศีรษะในเบื้องต่ำ ตกลงไปในนรกนั้น (ขุ.ชา 28/92/25.)
พุทธศิลป์ในยุคแรกๆ จึงไม่มีแนวคิดเรื่องเทพและภพภูมิเข้าไปเกี่ยวข้องในงานศิลปะ จนกระทั่งราวพุทธศตวรรตที่ 18 พระมหาธรรมราชาลิไทได้ประพันธ์วรรณกรรมเรื่องเตภูมิกถา ได้พรรณาเรื่องภพภูมิไว้อย่างละเอียดดังข้อความตอนหนึ่งว่า อันว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมจะเวียนวนไปมา และเกิดในภูมิ 3 อันนี้แล ฯ อันใดแลชื่อภูมิ 3 อันนั้นเล่า อนึ่งชื่อว่ากามภูมิ อนึ่งชื่อว่ารูปภูมิ อนึ่งชื่อว่าอรูปภูมิ ณ กามภูมินั้นยังอันเป็นประเภท 11 อันใดโสด อนึ่งชื่อว่านรกภูมิ อนึ่งชื่อว่าเปรตวิสัยภูมิ อันหนึ่งชื่อว่าสูรกายภูมิ 4 อนึ่งชื่อว่าอบายภูมิก็ว่า ชื่อทุคติภูมิก็ว่า ฯ อนึ่งชื่ออนุสสภูมิ อนึ่งชื่อตาวติงษภูมิ อนึ่งชื่อยามาภูมิ อนึ่งชื่อตุสิตาภูมิ อนึ่งชื่อนิมมานรดีภูมิ อนึ่งชื่อปรมิตวสวัตติภูมิ 7 อนึ่งชื่อสุคติภูมิผสมภูมิทั้ง 11 แห่งนี้ชื่อกามภูมิแล ฯ ในรูปภูมินั้นยังมีภูมิอันเป็นประเภท 16 อนึ่งโสด อนึ่งชื่อพรหมปาริสสัชชาภูมิ และพรหม 3 อันนี้ชื่อปฐมฌานภูมิแล ฯ อนึ่งชื่อปริตตาภาภูมิ อนึ่งชื่อกัปปมานาภาภูมิ อนึ่งชื่ออาภัสสราภูมิ และพรหม 3 ชั้นนี้ชื่อว่าทุติยฌานภูมิแล ฯ อนึ่งชื่อปริตตสุภาภูมิ อนึ่งชื่ออัปปมานสุภาภูมิ อนึ่งชื่อสุภกิณหภูมิและพรหม 3 ชั้นนี้ชื่อตติยฌานภูมิแล ฯ อนึ่งชื่อเวหับผลาภูมิ ชื่อว่าอสัญญิสัตตาภูมิ อนึ่งชื่ออเวหาภูมิ อนึ่งชื่อตัปปาภูมิ อนึ่งชื่อทัสสาภูมิ อนึ่งชื่อสุทัสสีภูมิ อนึ่งชื่ออกนิฏฐาภูมิ 7 ชั้นนี้ชื่อจตุตถฌานภูมิแล ฯ แต่อเวหาภูมินี้เถิงอกนิฏฐาภูมิ 5 ชั้นนี้ชื่อปัญจสุทธาวาศแล ฯ ผสมทั้ง 16 ชั้นนี้ชื่อรูปภูมิแล ฯ และในอรูปภูมินั้นยังมีประเภททั้ง 4 อันโสด อนึ่งชื่ออากาสานัญจายตนภูมิ อนึ่งชื่อวิญญาณญจายตนภูมิ อนึ่งชื่ออากิญจัญญายตนภูมิ อนึ่งชื่อเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิแล ฯ จึงผสมภูมิทั้งหลายนี้ได้ 31 จึงชื่อว่าไตรภูมิแล (พระมหาธรรมราชาที่ 1(พญาลิไท),ไตรภูมิพระร่วงหรือไตรภูมิกถา, พิมพ์ครั้งที่ 8,กรุงเทพฯ:จักรานุกูลการพิมพ์,2543,หน้า 1.)
เมื่อหนังสือเตภูมิกถาหรือไตรภูมิกถาหรือไตรภูมิพระร่วงได้อธิบายเรื่องภพภูมิไว้อย่าละเอียดโดยให้ความสำคัญกับนรกภูมิ ติรัจฉานภูมิ อสุรกายภูมิและมนุสสภูมิเป็นพิเศษเช่นการพรรณานรกภูมิตอนหนึ่งว่า “ฝูงสัตว์ทั้งหลายอันได้กระทำบาปด้วยปากด้วยใจดังกล่าวแล้วนี้ ย่อมได้ไปเกิดในจตุราบายมีอาทิคือนรกใหญ่ 8 ขุมนั้น ฯ สัญ์ชีโวกาล สุต์โตจ สังฆาโฏ โรรุโว ตถา มหาโรรุวตาโปจ มหาตาโปจาติ วีจิโย ฯ อนึ่งชื่อสัญชีพนรก อนึ่งชื่อกาลสูตตนรก อนึ่งชื่อมหาดาปนรก อนึ่งชื่อสังฆาฏนรก อนึ่งชื่อโรรุพนรก อนึ่งชื่อดาปนรก อนึ่งชื่อมหาอวิจีนรก ฝูงนรกใหญ่ 8 อันนี้อยู่ใต้แผ่นดินอันเราอยู่นี้และถัดกันลงไป และนรกอันชื่อว่าอวิจีนรกนั้นอยู่ใต้นรกทั้งหลาย และนรกอันชื่อว่าสัญชีพนรกนั้นอยู่นรกทั้ง 7 อันนั้น ฝูงสัตว์อันเกิดในนรกอันชื่อว่าสัญชีพนรกนั้นยืนได้ 500 ปีด้วยปีในนรก และเป็นวัน 1 คืน 1 ในนรกได้ 9 ล้านปีในเมืองมนุษย์นี้ 500 ปี ในสัญชีพนรกได้ล้าน 6 แสนล้านหยิบหมื่นปีในเมืองคนนี้ 1,620,000,000,000 ปี