ปัญจศีลาหลักการสำคัญของชาติ
ชาวอินโดนีเซียมีอิสระในการนับถือศาสนาไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือฮินดู พุทธหรือคริสต์ขอเพียงให้มีความยึดมั่นในหลักปัยจศีลาซึ่งมีเป้าหมายเพื่อความกลมเกลียวของชาติเท่านั้น(อินโดนีเซีย หน้า 69)
คำว่า “ปัญจศีลา” หลายคนคงคิดถึง “เบญจศีลหรือศีลห้าในพระพุทธศาสนา” แต่ปัญจศีลาของประเทศอินโดนีเซียมีความหมายพิเศษ ดังที่เอลซา ไซนุดิน อธิบายความความเป็นมาและความหมายของปัญจศีลาไว้ว่า “วันที่ 17สิงหาคม ค.ศ. 1945 เวลา 10 นาฬิกา ซูการ์โนได้อ่านประกาศอิสรภาพสั้นๆว่า “เราประชาชนอินโดนีเซีย ขอประกาศเอกราชของประเทศอินโดนีเซีย ณ บัดนี้ เรื่องเกี่ยวกับการโอนอำนาจและเรื่องอื่นๆจะจัดการไปเป็นลำดับและให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้” ในนามของประชาชนอินโดนีเซีย ซูการ์โนและฮัตตา(ประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย,หน้า 329)
ประธานาธิบดีซูการ์โนเคยกล่าวสุนทรพจน์ที่สำคัญครั้ังหนึ่งว่า“อย่าคิดฝันว่าการคงอยู่ของประเทศอินโดนีเซียเสรีจะทำให้การต่อสู้ของเราจบสิ้นลง มิใช่เช่นนั้น ข้าพเจ้ากล่าวแม้แต่ว่า ภายในประเทศอินโดนีเซียเสรีนั้น การต่อสู้ของเรายังคงต้องดำเนินต่อไป เพียงแต่จะมีลักษณะภาวะแปลกไปกว่าการต่อสู้ในปัจจุบัน ลักษณะพิเศษของการต่อสู้จะผิดไปในฐานะที่เราเป็นประชาชนที่รวมกัน เราจะดำเนินการต่อสู้ของเราเพื่อให้บรรลุถึงความคิดของเราที่มีอยู่ในปัญจสีลา” ซูการ์โน “กำเนิดของปัญจสีลา” วันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1945 (สุนทรพจน์ที่กล่าวแก่องค์ตการตรวจสอบเพื่อการตระเตรียมเอกราช) (ประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย,หน้า 353)
ประธานาธิบดีซูการ์โนเคยกล่าวถึงการรวบรวมกฎบัญญัติห้าข้อนี้ของเขาว่า “ข้าพเจ้าไม่รู้สึกว่าข้าพเจ้าเป็นผู้สร้างปัญจสีลา ไม่รู้สึกว่าเป็นผู้ก่อตั้งปัญจสีลา ข้าพเจ้าเพียงแต่นำความรู้สึกที่มีอยู่ในหมู่ประชาชนมาเขียนเป็นถ้อยคำซึ่งข้าพเจ้าเรียกว่า “ปัญจสีลา” ข้าพเจ้าเพียงแต่รวบรวมกันเข้าเพราะความรู้สึกทั้งห้านี้ได้มีอยู่มาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว แม้แต่อาจเป็นถึงหลายร้อยปีในส่วนลึกของหัวใจของเรา” (ประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย,หน้า 357)
หนังสืออินโดนีเซียได้อธิบายหลักปัญจศีลาไว้ว่า “ปัญจศีลา หลักห้าประการของปรัชญาแห่งรัฐอินโดนีเซีย ชาวอินโดนีเซียมีอิสระในการนับถือศาสนาไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือฮินดืพุทธหรือคริสต์ ขอเพียงให้ยึดมั่นในหลักปัญจสีลาซึ่งมีเป้าหมายเพื่อความกลมเกลียวของชาติเท่านั้น แม้อินโดนีเซียจะมีคนมุสลิมมกาที่สุดในโลกหรือร้อยละ 90 ของประเทศ แต่ก็ไม่เคยประกาศเป็นรัฐอิสลาม ส่วนที่เหลือเป็นคริสเตียนนิกายโปเตสแตนต์ หรือพุทธ ชาวคริสต์ในอินโดนีเซียแม้จะมีปริมาณน้อยแต่ก็มีบทบาทในวงการทหารและการเมือง ทำนองเดียวกับพุทธซึ่งมีบทบาทในภาคเศรษฐกิจ(มัลลิกา พงศ์ปริตร,ศิริพร โตกทองคำ, อินโดนีเซีย,สำนักพิมพ์หน้าต่างสู่โลกกว้าง,2549หน้า,59)
หลักการข้อแรกคือหลักของลัทธิชาตินิยมรัฐแห่งชาติอินโดนีเซียที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ ซูการ์โนได้ย้อนกลับไปที่อาณาจักรโบราณคืออาณาจักรมัชปาหิตและอาณาจักรศรีวิชัย โดยอ้างว่า “หากประชาชนของเราทั้งหมดคือประชาชนอินโดนีเซียพร้อมที่จะตายเพื่อป้องกันประเทศของเราคือประเทศอินโดนีเซีย แม้เพียงแต่ใช้หลาวไม้ไผ่ ในเวลานั้นประชาชนอินโดนีเซียก็พร้อมที่จะเป็นเอกราช” ลัทธิชาตินิยมนี้จะต้องไม่พัฒนาให้เป็น ความบ้ารักชาติ (ประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย 357)
หลักการข้อที่ 2 ลัทธิชาตินิยมนานาชาติหรือหลักของมนุษยธรรม ระบอบการระหว่างประเทศมิอาจรุ่งเรืองขึ้นได้ หากมิได้เกิดขึ้นในแผ่นดินนานาชาติ ลัทธิชาตินิยมมิอาจเติบโตขึ้นได้ หากมิได้โตขึ้นในสวนดอกไม้ของระบอบการระหว่างประเทศ
หลักการข้อที่ 3 ความเห็นพ้องต้องกันหมด การแสดงออกแทนกัน การตรึกตรองในหมู่ผู้แทนหรืออำนาจของประชาชนและโต้แย้งว่าองค์การผู้แทนของประชาชนกลุ่มอิสลามควรแสดงออกซึ่งข้อเรียกร้องของศาสนาอิสลาม เขานำหลักข้อที่สามนี้ไปเชื่อมกับหลักข้อที่สี่คือ
หลักการข้อที่ 4 ความยุติธรรมในสังคม โดยอ้างว่าลัทธิการเมืองที่เท่าเทียมกันจะไร้ค่า หากปราศจากความเท่าเทียมกันในด้านเศรษฐกิจด้วย ความเป็นอยู่ของสังคมจะต้องควบคู่กันไปกับความยุติธรรมทางการเมือง
หลักการข้อที่ 5 ให้สร้างอินโดนีเซีย เมอร์เดกา ด้วยความกลัวพระเจ้าแต่องค์เดียวคือพระเจ้าสูงสุดเชื่อในพระเจ้าด้วยความเคารพซึ่งกันและกันร่วมกัน”สภาวะที่ทุกคนสามารถนับถือพระเจ้าของพวกเขาดังเช่นเขาต้องการให้ปราศจากความเห้นแก่ตัวในเรื่องศาสนา เมื่อต่อมากลุ่มชนที่นับถือศาสนาอิสลามอ้างว่าซูการ์โนมิได้เข้าถึงจิตใจและเอกลักษณ์ของชาติอินโดนีเซียได้ซาบซึ้งพอ เพราะถ้าเขาได้กระทำดังนั้นแล้ว เขาจะพบศาสนาอิสลามแทนที่จะเป็นปัญจสีลา เขาอ้างว่าแม้ว่าตัวเขาเป็นมุสลิม “การแสวงหาของข้าพเจ้ากลับไปสู่สมัยก่อนศาสนาอิสลามมีอยู่ ข้าพเจ้าค้นหาไปถึงสมัยฮินดูและก่อนฮินดู”
หลักการทั้งห้าข้อ(ปัญจสีลา) นั้นเป็นที่ยอมรับกันในหมู่ชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่ว่าเป็นพื้นฐานของรัฐและรวมเข้าด้วยกันเป็นสัญลักษณ์ของเครื่องหมายแห่งชาติ สิ่งนี้เป็นเรื่องสมัยใหม่ของนิยายพญาครุฑที่เกี่ยวข้องกับนกอินทรีและนกฟินิกซ์ (นกในนิยายโบราณ เชื่อว่าเมื่อนกนี้มีอายุได้ห้าหรือหกร้อยปีก็เผาตัวเองและเป็นหนุ่มใหม่) ม้าของโอรสพระกฤษณะในเรื่องหนังตะลุงที่สามารถกล่าวสุนทรพจน์แบบมนุษย์ได้ ตราการูดาในตราตระกูลอินโดนีเซียสมัยใหม่มีปีกข้างละ 17 แฉก และมีหางแผ่เป็น 8 แฉก เป็นสัญลักษณ์ของวันประกาศเอกราชของอินโดนีเซีย” (ประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย 358)
คำขวัญของประเทศอินโดนีเซียคือ “เอกภาพบนความแตกต่าง” โดยมีหลักปัญจศีลเป็นแนวทางในการอยู่ร่วม พระพุทธศาสนาเถรวาทจะดำรงอยู่ในในสังคมที่มีความแตกต่างนี้ได้หรือไม่ นั่นเป็นเรื่องของอนาคต
นับจากนี้ไปชาวโลกต้องคอยจับตาดูว่าพระสงฆ์ในอินโดนีเซียจะสามารถเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้มีความมั่นคงในอินโดนีเซียได้หรือไม่ สิ่งที่เคยสูญหายไปหลายร้อยปีกำลังจะได้รับการฟื้นฟูให้คืนกลับขึ้นมาอีกครั้ง ชาวพุทธจากทั่วโลกเดินทางไปนมัสการมหาเจดีย์บูโรบูดูร์หรือบรมพุทโธต่างก็ตกตะลึงในความมหัศจรรย์ของเจดีย์แห่งนี้ แต่แม้จะสร้างโบราณสถานมีขนาดใหญ่โตมโหฬารขนาดไหนก็ตาม หากชาวพุทธไม่สร้างศาสนทายาทไว้ก็ยากที่จะรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
16/05/53
อ้างอิง
ศิริพร โตกทองคำ,อินโดนีเซีย,กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์สู่โลกกว้าง,2549.
ศุภลักษณ์ สนธิชัย,อินโดนีเซีย,กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์อทิตตา,2549.
เอลซา ไชนุดิน(เพ็ชรี สุมิตร แปล),ประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย,กรุงเทพฯ: มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย,2552.
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อครั้งที่ทรงสมณศักดิ์ที่ พระศาสนโศภณ,พระศาสนกิจในต่างประเทศ” พิมพ์เผยแพร่ใน “อนุสรณ์การบำเพ็ญกุศลอัฏฐิถวายพระราชวราจารย์ (วิญญ์ วิชาโน) อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศซิหาร และ หัวหน้าพระธรรมทูตไทยสายประเทศอินโดนีเซีย (27-28 กันยายน 2549)
สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยสมัยที่ 21,ศาสนศาสตร์บัณฑิต รุ่นที่ 33,ศักดิโสภาการพิมพ์,2530.