การเดินทางไปประชุมคณะสงฆ์เถรวาทที่ประเทศอินโดนีเซียเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่ได้รับรู้จากรายงานการประชุมคือความเป็นมาและสถานการณ์พระพุทธศาสนาในดินแดนแห่งประเทศมุสลิม ที่ไม่เหมือนกับที่เคยจินตนาการไว้ก่อนออกเดินทางที่คิดไม่ออกว่าพระพุทธศาสนาจะอยู่กันอย่างสันติกับศาสนาอิสลามได้อย่างไร ในประเทศไทยคนส่วนมากเป็นพุทธศาสนิกชน แต่ที่อินโดนีเซียพุทธศาสนิกชนเป็นคนกลุ่มน้อยอยู่ท่ามกลางศาสนาใหญ่ๆอีกหลายศาสนา
เอกภาพบนความแตกต่าง
ประเทศอินโดนีเซียมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล มีเกาะประมาณ 17,508 มีพื้นที่เป็นทะเลมากกว่าพื้นดิน มีประชากร 235 ล้านคน มากเป็นอันสี่ของโลก ข้อมูลทางศาสนาระบุว่าชาวอินโดนีเซียร้อยละ 87 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 10 นับถือศาสคริสต์ซึ่งแบ่งเป็นร้อยละ 6 นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ ร้อยละ 3.5 นับถือศาสนาคริสต์นิกายแคทอลิก ที่เหลืออีกร้อยละ 3 นับถือศาสนาฮินดูและพุทธ ซึ่งแบ่งสัดส่วนได้คือร้อยละ 1.8 นับถือศาสนาฮินดู และร้อยละ 1.3 นับถือศาสนาพุทธ (ศุภลักษณ์ สนธิชัย,อินโดนีเซีย,กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์อทิตตา,2549,หน้า 5) ข้อมูลอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่จากข้อมูลดังกล่าวหมายความว่ามีชาวพุทธไม่ถึงสิบล้านคน
ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ หนังสือประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาระบุว่า “ถึงแม้ว่าในปัจจุบันประเทศอินโดนีเซียจะเป็นประเทศนับถือศาสนาอิสลาม แต่อดีตเคยมีพระพุทธศาสนาแบบมหายานเข้ามาประดิษฐานอยู่ พระพุทธศาสนาได้รุ่งเรืองมาก ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 มีโบราณสถานที่สำคัญสองแห่งอยู่ในอินโดนีเซียคือ โบโรบุดูร์ หรือ บรมพุทโธ ตั้งอยู่ที่ราบเกตุ (kedu)ในภาคกลางของชวา ห่างจากเมืองยอกยาการ์ตา (Jogjagata) ในปัจจุบันทางเหนือประมาณสี่สิบกิโลเมตร และพระวิหารเมนดุต (Mendut) ซึ่งอยู่ห่างจาก โบโรบุดูร์ไปทางทิศตะออกสามกิโลเมตร ต่อมาเมื่ออิสลามได้ขยายอำนาจครอบงำอินโดนนีเซียในปีพุทธศักราช 2012 ชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่จึงเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาขณะที่พระพุทธศาสนาตกอยู่ในภาวะเสื่อมโทรมตลอดระยะเวลาอันยาวนาน”
พระพุทธศาสนาในอินโดนีเซียมีส่วนผสมของฮินดูจนบางครั้งแยกกันไม่ออก ฮินดูและพุทธจึงอยู่ร่วมกันจนมีผู้มองว่า “ศาสนาพุทธแตกกิ่งก้านมาจากฮินดู แต่มีความอ่อนโยนและลึกซึ้งกว่า แผ่ขยายสู่จีนและผ่านทางการออกธุดงค์ของพระสงฆ์ ก่อนเข้าสู่ชวาและสุมาตรา โดยพื้นฐานแล้วศาสนาพถุทธแตกสาขามาจากฮินดูก็จริง แต่ละทิ้งแนวคิดเรื่องวรรณะเช่นเดียวกับความเชื่อในเรื่องเทพเจ้าหลายองค์ และเสนอแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องตามหลักศีลธรรม ชาวพุทธในอินโดนีเซียส่วนใหญ่เป็นคนจีน แม้จะเป็นพุทธที่ผสมผสานกับความเชื่อของบรรพบุรุษคือลัทธิเต๋าและขงจื้อ แต่คนจีนส่วนใหญ่ชอบบอกว่าตนเป็นคนพุทธ (ศิริพร โตกทองคำ,อินโดนีเซีย,กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์สู่โลกกว้าง,2549,หน้า 63)
โบราณสถานโบราณวัตถุที่เกิดจากศรัทธาในพระพุทธศาสนาในอดีตยังคงหลงเหลือให้เห็นเป็นจำนวนมากดังที่เอลซา ไซนุดินได้บันทึกไว้ว่า “อาณาจักรต่างๆในชวาทิ้งโบราณวัตถุทั้งหลายอย่างหรูหราไว้เป็นอันมาก ในระหว่าง ค.ศ. 750 -850 มีการสร้างปูชนียสถานในพระพุทธศาสนาที่น่าประทับใจที่สุดในชวากลางคือเจดีย์บุโรพุทโธซึ่งยังคงอยู่มาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ เจดีย์บุโรพุทโธแสดงให้เห็นแบบการก่อสร้างที่แสดงความคิดทางพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับจักรวาล และตามภาพแกะสลักอันยาวเหยียดรอบระเบียงทั้งสี่ด้านก็เป็นภาพพุทธประวัติทั้งสิ้น (เอลซา ไชนุดิน(เพ็ชรี สุมิตร แปล),ประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย,กรุงเทพฯ: มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย,2552,หน้า 59)
หลักฐานของอิทธิพลพุทธ-ฮินดู นั้น เห็นอยู่ชัดเจนเพียงพอในอินโดนีเซียภาคต่างๆ ที่มีจารึกภาษาสันสกฤตที่อาจอ้างย้อนหลังไปได้ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 5 และได้มีการค้นพบโบราณสถานและประติมากรรมฮินดูจำนวนมากในบริเวณหมู่เกาะ แม้ว่าในอินเดียลัทธิฮินดูและพุทธศาสนาจะแบ่งแยกกันอย่างชัดเจน แต่ในอินโดยีเซียยากที่จะแบ่งแยกสิ่งเหล่านั้นออกจากกัน โดยเฉพาะสิ่งที่พวกเขายอมรับมักจะเป็นการผสมของปรัชญาฮินดูและพุทธซึ่งเข้ากับความเชื่อทางศาสนาเก่าๆ ที่มีอยู่ในอินโดนีเซียเวลานั้น ลัทธิฮินดูนั้นเป็นระบบเกี่ยวกับราชสำนักโดยเฉพาะ รวมทั้งเน้นถึงเรื่องวรรณะและความสัมพันทางสังคมของชนชั้นต่างๆที่มีอยู่ระหว่างกัน และยังเน้นถึงบทบาทของกษัตริย์ที่มีสภาวะเช่นพระเจ้า ผู้ที่จะต้องมีความประพฤติที่ถูกต้องอันจะนำความปลอดภัยและความอุดมสมบูรณ์ให้แก่อาณาจักรของพระองค์
อีกด้านหนึ่งพุทธศาสนามีลักษณะเป็นสถาบันน้อยกว่าและเป็นกันเองมากกว่า ทุกคนอาจบรรลุถึงความหลุดพ้นจากสิ่งทั้งหลายหรือนิพพานได้โดยไม่จำกัดเฉพาะผู้ที่มีกำเนิดสูง แต่เกี่ยวข้องกับการทำสมาธิ อดอาหารและการปฏิบัติชอบ พุทธศาสนานิกายที่มายังอินโดนีเซียคือมหายานนั้นเน้นถึงการปฏิบัติชอบและการสร้างวัดตลอดจนอนุสาวรีย์ บุคคลที่บรรลุถึงความหลุดพ้นและอยู่ระหว่างที่จะบรรลุนิพพานอาจปฏิเสธรางวัลอันสูงสุดนี้เพื่อสิ่งอื่น คือเขาจะกลายเป็นจพระโพธิสัตว์พระพุทธเจ้าในระยะเริ่มแรกนี้เป็นผู้ที่คนเคารพนับถือ(ประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย, หน้า 53)
ในปี ค.ศ. 1814 (พ.ศ. 2357) เซอร์สแตมฟอร์ด แรฟเฟิลล์ (Sir Stamford Raffles) ส่งร้อยโทตอร์เนลิอัส (Lieutenant Cornelius) แห่งกองทัพอังกฤษไปสำรวจบริเวณที่เชื่อสืบกันมาว่าเป็นที่ตั้งของปูชนียสถานแต่โบราณ เขาได้พบซากปรักหักพังทั้งหลายและรายงานสิ่งที่เขาได้ค้นพบ และในระหว่างปี ค.ศ. 1907-1911 (พ.ศ. 2450-2454) คณะนักโบราณคดีชาวฮอลันดาเริ่มบูรณะปูชนียวัตถุเหล่านั้น นัยว่าในปี ค.ศ. 1896 (พ.ศ.2439) รัฐาบาลอาณานิคมของฮอลันดาถวายรูปสลักหินถึงแปดเล่มเกวียนให้แก่พระเจ้าแผ่นดินไทยเมื่อคราวที่เสด็จเยือนอินโดนีเซีย (ประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย, หน้า 59)
มหาเดีย์บูโรบูดูร์หรือบรมพุทโธเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงพลังศรัทธาของชาวพุทธ เป็นสัญญลักษณ์ที่แสดงถึงสาระสำคัญและจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา จนมีผู้อธิบายไว้ว่า “มีผู้มองบุโรพุทโธมิใช่เป็นเพียงตัวแทนของพุทธจักรวาลและเป็นทาง 10 ขั้นเพื่อบรรลุนิพพานอันสูงสุดเท่านั้น แต่ยังมีความผูกพันกับในอดีตกาล ดังนั้นบุโรพุทโธเองจึงมิใช่เป็นสถูปในความหมายดั้งเดิมคือเป็นสถานที่ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า แต่เป็นสถานที่บรรจุพระศพกษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทรที่ถวายพระเพลิงและฝังพระศพไว้บนพื้นฐานชั้นต้นๆของสิ่งก่อสร้างนี้ จึงเท่ากับผูกโยงปูขนียสถานในพระพุทธศาสนาไว้กับการบูชาบรรพบุรุษรุ่นเดิม และเจดีย์ยอดแหลมอันกว้างขวางแบบอินโดนีเซียแท้ๆ ในสมัยก่อนได้รับอิทธิพลฮินดูและพระพุทธศาสนา (ประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย, หน้า 61)
เจดีย์บุโรพุทโธสร้างเป็นรูปโดมใหญ่หรือเป็นสถูปรอบๆเขาเตี้ยๆ เป็นสัญลักษณ์ของจักรวาลดังที่สาวกของพระพุทธเจ้าแลเห็น ใต้ฐานเจดีย์เป็นรูปแกะสลักภาพนูนแสดงให้เห็นโลกของความใคร่และตัณหา คนดีจะได้รับรางวัลด้วยการไปเกิดใหม่ในชีวิตที่ดีกว่า และคนชั่วจะได้รับโทษไปเกิดใหม่ในที่ต่ำกว่า ที่แปลกก้คือผู้สร้างที่ได้แกะสลักภาพเหล่านี้แล้วกลับนำเอาก้อนหินไปปกปิดภาพเหล่านั้นเสีย
ตามระเบียงทั้งสี่ด้านที่อยู่สูงขึ้นไปจากชั้นนี้เป็นชั้นๆขึ้นไปแสดงให้เห็นโลกของรูปในแบบต่างๆ หากเราเดินเลี้ยวซ้ายจากบันไดกลางเราเดินรอบลานกว้างและด้านบนระเบียงที่ไม่มีหลังคา มีลูกกรงอยู่ทางซ้ายและมีจารึกคำสอนหลักอยู่บนฝาผนังด้านใน พร้อมด้วยภาพพุทธประวัติในระยะต่างๆ ที่ทรงแสวงหาทางตรัสรู้อีก 1300 ภาพประกอบอยู่ หลังจากเดินเป็นระยะทางสามไมล์แล้ว เราก็พ้นจากโลกของรูปต่างๆออกไปยังโลกที่ปราศจากรูป มีลานกลมกว้างไม่มีขอบเขตสามระดับ มีสถูปหินถึง 72 สถูปเรียงรายอยู่โดยรอบคือสถูปเล็กเรียงรายอยู่รอบสถูปใหญ่ที่ตั้งอยู่ตรงกลาง และเราจะมองผ่านหุบเขาที่เขียวชอุ่มไปยังเทือกเขาที่แวดล้อมเรียงเป็นวงอยู่รอบด้าน เป็นอาณาบริเวณที่น่าชมอย่างยิ่ง (ประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย, หน้า 60)
สถูปที่เล็กกว่านั้นบรรจุพระพุทธรูปไว้จำนวนมากและนักท่องเที่ยวมักได้รับเชิญให้เอามือลอดลูกกรงไปจับต้องพระหัตถ์หรือพระบาทพระพุทธรูปที่อยู่ภายใน ขณะที่มัคคุเทศก์ท่องบทสวดมนต์ที่เหมาะสมให้ฟัง สถูปองค์กลางที่ใหญ่กว่าก็แสดงให้เห็นนิพพานซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความว่างเปล่า
มีโบราณสถานที่เล็กกว่าอยู่สองแห่งในบริเวณที่รวมกันอยู่นี้ จันติเมนดุต เป็นสถูปที่เชื่อกันว่าพระโพธิสัตว์ทั้งเก้า องค์ที่ปรากฎอยู่นั้นเป็นอดีตกษัตริย์ทั้งเก้าในราชวงศ์ไศเลนทร ซึ่งเมื่อย่างเข้าสู่สมัยที่ 10 ก็มีเรื่องยุ่งยากเกิดขึ้น และจันดี ปาวัน ก็เป็นสถานที่ที่เชื่อกันว่าใช้เผาบูชาเพื่อชำระตนให้บริสุทธิ์ก่อนจะเข้าไปในบริเวณบุโรพุทโธ เจดีย์ทั้งสามอยู่ไม่ห่างกันนัก ใกล้ๆกับเจดีย์เมนดุตปัจจุบันมีวัดของคณะสงฆ์เถรวาทอินโดนีเซีย เป็นที่จำพรรษาของพระสังฆปาโมกข์แห่งอินโดนีเซียคือพระศรี ปํญญาวโรมหาเถร
อิทธิพลของฮินดูยังมีปรากฎเป็นหลักฐานที่ชัดเจนแห่งหนึ่งคือจันดีพราหมณัน ซึ่งอยู่ห่างจากเจดีย์บุโรฐูดูร์ประมาณสี่สิบกิโลเมตร เจดีย์แห่งนี้สร้างขึ้นตามความเชื่อในเรื่องของรามยณะปัจจุบันมีให้เห็นอยุ่หกองค์ ภายในเจดีย์แต่ละองค์จะเป็นที่ประดิษฐานของเทพเจ้าตามความเชื่อของศาสนาฮินดู ภายในเจดีย์องค์หนึ่งมีภาพโคนอนนิ่งอยู่ภายใน
เกี่ยวกับชาวฮินดูนั้นมีระบุไว้ว่า “ชาวฮินดูอินโดนีเซียอยู่ในบาหลีเป็นส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 90ของชาวฮินดูทั้งประเทศ และมีพัฒนาการต่างไปจากฮินดูในอินเดีย สิ่งสำคัญของฮินดูบาหลีหรือ อะกามา ฮินดู ธรรมะ คือความเชื่อในสมดุลของพลังที่ตรงกันข้ามกันเช่นดีและชั่ว มืดและสว่าง ชายและหญิง บวกและลบ ระเบียบและวานวาย พลังทั้งสองอยู่ร่วมกันและมีพลังพอกัน (อินโดนีเซีย,หน้า 62)