ในโลกที่มีความสับสนวุ่นวาย โลกที่มีการแข่งขันสูงยุคสมัยที่ใครมือยาวสาวได้สาวเอา ใครที่มี “ปัญญา” ย่อมหาทางเอาชนะคนที่มีปัญญาน้อยกว่าได้ ส่วนคนที่ไร้ปัญญาก็มักจะถูกเอาเปรียบหรืออาจจะคิดสั้นไปเลยก็ได้ ระบบการศึกษาก็เป็นส่วนหนึ่งที่คิดว่าเป็นการทำให้คนมีปัญญามากกว่ากัน แต่ยิ่งมีคนเรียนสูงมากเท่าใด ปัญหากลับยิ่งมากตามไปด้วย แสดงว่าการศึกษาในระบบมิใช่สิ่งที่จะทำให้มนุษย์มี “ปัญญา” ในการแก้ปัญหาเสมอไป แต่การศึกษาในระบบทำให้คนมีความรู้ในการประกอบอาชีพได้ คนที่มีความรู้ มีความสามารถอาจจะทำงานเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ แต่คนมีความรู้อาจจะไม่ใช้คนมีปัญญาก็ได้
ในพระพุทธศาสนาคำว่า “ปัญญา” เป็นคำนามอิตถีลิงค์ แปลว่าความรู้ ความเข้าใจ รู้อะไร เข้าใจอะไร ปัญญามาจากไหน ในสังคีติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค (11/228/231) แสดงแหล่งเกิดขึ้นของปัญญาไว้สามประการคือ (1) จินตามยปัญญา ปัญญาสำเร็จด้วยการคิด (2) สุตมยปัญญา ปัญญาสำเร็จด้วยการฟัง (3) ภาวนามยปัญญา ปัญญาสำเร็จด้วยการอบรม
ในพระอภิธรรมปิฎก วิภังคปกรณ์ (35/797) ได้แสดงประเภทแห่งปัญญาไว้หลายประการความว่า “ จินตามยปัญญา สุตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา ทานมยปัญญา สีลมยปัญญา ภาวนามยปัญญา อธิสีลปัญญา อธิจิตตปัญญา อธิปัญญาปัญญา อายโกศล อปายโกศล อุปายโกศล
ใครคือคนที่มีปัญญา ในปัญญวาสูตร สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค (19/511) พระพุทธเจ้าได้ตอบคำถามของภิกษุว่าด้วยคนมีปัญญา ความว่า “ดูกรภิกษุ ที่เรียกว่า คนมีปัญญา ไม่ใช่คนใบ้ ก็เพราะโพชฌงค์ 7 อันตนเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว โพชฌงค์ 7 เป็นไฉน คือ สติสัมโพชฌงค์ องค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้คือความระลึกได้ 2. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ องค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้คือการสอดส่องธรรม 3. วิริยสัมโพชฌงค์ องค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้คือความเพียร 4. ปีติสัมโพชฌงค์ องค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้คือความอิ่มใจ 5. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ องค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้คือความสงบ 6. สมาธิสัมโพชฌงค์องค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้คือความตั้งใจมั่น 7. อุเปกขาสัมโพชฌงค์ องค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้คือ ดูกรภิกษุ ที่เรียกว่า คนมีปัญญา ไม่ใช่คนใบ้ ก็เพราะโพชฌงค์ 7 เหล่านี้แล อันตนเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
1. จินตามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการคิด เป็นปัญญาที่เกี่ยวเนื่องมาจากความเห็น ซึ่งในสติปัฏฐานสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ (12/149) เรียกว่า “สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะ” ดังที่แสดงไว้ว่า ก็สัมมาทิฏฐิเป็นไฉน ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในเหตุให้ทุกข์เกิด ความรู้ในความดับทุกข์ ความรู้ในข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ อันนี้เรียกว่า "สัมมาทิฏฐิ" สัมมาสังกัปปะเป็นไฉน ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในความไม่พยาบาท ความดำริในอันไม่เบียดเบียนอันนี้เรียกว่า"สัมมาสังกัปปะ"ในพระอภิธรรมปิฎก วิภังคปกรณ์ (35/164) ก็แสดงนิยามของสัมมาสังกัปปะไว้เหมือนกัน ความว่า “สัมมาสังกัปปะ เป็นไฉน ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในการไม่พยาบาท ความดำริใน การไม่เบียดเบียน นี้เรียกว่า "สัมมาสังกัปปะ"
มนุษย์ที่มีความคิดเห็นแบบเดียวกันย่อมคบค้าสมาคมกัน ดังที่แสดงไว้ใน อัฏฐังคิกสูตร สังยุตตนิกาย นิทานวรรค (16/400) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกัน โดยธาตุเทียว คือพวกสัมมาทิฐิ ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกัน กับพวกสัมมาทิฐิ พวกสัมมาสังกัปปะ ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกัน กับพวกสัมมาสังกัปปะ
2.สุตมยปัญญา คำว่า “สุต” คำนามปุงลิงค์ แปลว่า ลูกชาย ถ้าเป็น “กิต” แปลว่า ฟังแล้ว เรียนแล้ว คำว่า “สุต” ยังเป็นหนึ่งในคำสอนที่เรียกว่า “นวังคสัตตถุสาสน์ หรือพุทธวจนะคือพระไตรปิฎก รวมเป็นศาสนธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ดังที่แสดงไว้ในวินัยปิฎก มหาวิภังค์ (1/7) ความว่า “สุตตะ เคยยะเวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ”
คำว่า “สุต” ในศาสนธรรมได้แก่อุภโตวิภังค์ นิทเทส ขันธกะ ปริวาร และพระสูตรต่างๆ ดังนั้น “สุตมยปัญญา” จึงเป็นปัญญาที่เกิดจากการฟัง การอ่าน การเรียน การศึกษา
ระบบการจัดการศึกษาในประเทศไทยน่าจะเป็นการสร้างปัญญาประเภทสุตมยปัญญามากที่สุด นักเรียนนักศึกษาต้องหอบตำราที่นักวิชาการทั้งหลายได้เรียบเรียงขึ้นมาเพื่อใช้ประกอบการศึกษา จนกระทั่ง “ตำรา” แทบจะเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในระบบการศึกษาทั่วไป แต่โลกในยุคปัจจุบันมีตำราที่มากกว่าหนังสือเรียน นั่นคือระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถพกพาไปไหนมาไหนได้สะดวก มีโทรศัพท์เครื่องเดียวก็เหมือนมีตำราหลายหมื่นเล่ม เพียงแค่เข้าสู่ระบบการสืบค้นจากอินเทอร์เน็ต สรรพความรู้ทั้งหลายก็มาอยู่ในมือของเราแล้ว ตำราที่เป็นเล่มก็เริ่มจะมีความสำคัญน้อยลงไปด้วย ดูเหมือนกับว่าปัจจุบันจะเป็นยุคที่คนมีความรู้มาก รู้แทบทุกเรื่อง แต่จะนำเรื่องที่รู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากน้อยเพียงใดไม่อาจจะรู้ได้
3. ภาวนามยปัญญา ปัญญาสำเร็จด้วยการอบรม คำว่า “ภาวนา” คำนามอิตถีลิงค์ แปลว่า การทำให้มี การทำให้เป็น การทำให้เกิด คำว่า “ภาวนามย” เป็นคำคุณนาม แปลว่า ภาวนามัย อันสำเร็จด้วยภาวนา สำเร็จด้วยการให้มี สำเร็จด้วยการให้เป็น สำเร็จด้วยการให้เกิด
ในพระพุทธศาสนาการสร้างปัญญาที่เกิดจากการภาวนา เป็นแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำให้พุทธศาสนิกชนฝึกอบรมจิตเพื่อให้เกิดปัญญาโดยการภาวนา ในพระพุทธศาสนาท่านจำแนก “ภาวนา”ไว้สองอย่างคือ (1) สมถภาวนา หมายถึงการฝึกอบรมจิตให้เกิดความสงบ, การฝึกสมาธิ (2) วิปัสสนาภาวนา หมายถึงการฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความรู้แจ้งตามเป็นจริง, การเจริญปัญญา ทั้งสองสองอย่างนี้ ในบาลีที่มาท่านเรียกว่า ภาเวตัพพธรรม และ วิชชาภาคิยธรรม. ในคัมภีร์สมัยหลัง บางทีเรียกว่า กรรมฐาน อารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งงานเจริญภาวนา, ที่ตั้งแห่งงานทำความเพียรฝึกอบรมจิต, วิธีฝึกอบรมจิต
สมถภาวนาเพียงแค่ทำใจให้สงบ แม้เพียงชั่วครู่ชั่วยามก็นับว่าเป็นการปฏิบัติที่มีผลมาก โบราณว่า “เพียงช้างสะบัดหู งูแลบลิ้น” ก็เป็นกุศลแล้ว
ส่วน “วิปัสสนา” นั้นมีวิธีการปฏิบัติที่ฝึกยากกว่า “สมถภาวนา” วันนี้ข้าราชการจากกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรมมาเข้าวัดฟังธรรม จึงขอนำเสนอการบำเพ็ญวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นขั้นตอนในการปฏิบัติที่ไม่ยุ่งยาก สามารถปฏิบัติได้ทุกเวลา
คำว่า “วิปัสสนา” เป็นคำนามอิตถีลิงค์ แปลว่าความเห็นแจ้ง การเห็นความจริง ส่วนคำว่า “สมถภาวนา คำนามปุงลิงค์ แปลว่า ความสงบใจ
เราควรเจริญวิปัสสนาเมื่อใด
ในแต่ละวันมีเรื่องมากมายหลายอย่างผ่านเข้ามาในชีวิต จนแทบจะไม่มีเวลามานั่งสมาธิทำใจให้สงบได้ แต่เราสามารถเจริญวิปัสสนาได้ แม้ในชณะทำงาน การเจริญวิปัสสนาโดยทั่วไปสามารถกระทำได้สรุปคือ
(1) เจริญวิปัสสนาเมื่อพบเหตุการณ์ต่างๆในชีวิต
(2) เจริญวิปัสสนาเมื่อจิตสงบแล้ว
(3) เจริญวิปัสสนาพร้อมกับการกำหนดลมหายใจเข้าออก
อุปกรณ์ในการเจริญวิปัสสนาอยู่กับตัวมนุษย์ทุกคน การพิจารณาใช้องค์ประกอบสี่ประการคือ (1) ใช้ปัญญาเป็นอาวุธ (2) พิจารณาไตรลักษณ์ (3) การปล่อยวาง (4) ไม่ยึดมั่นถือมั่น
ในพระพุทธศาสนาแสดงอาวุธในการปฏิบัติธรรมไว้สามประการ ดังที่แสดงไว้ในสังคีติสูตร ฑีมนิกายปาฏิวรรค ความว่าอาวุธสามอย่างคือ(1) สุตาวุธ อาวุธคือการฟัง(2) ปวิเวกาวุธ อาวุธคือความสงัด (3) ปัญญาวุธ อาวุธคือปัญญา (11/228/231)
1. การเจริญวิปัสสนาเมื่อพบเหตุการณ์ต่างๆในชีวิต
ในแต่ละวันเราได้ยินได้ฟังเรื่องราวต่างๆมากมาย จริงบ้างเท็จบ้าง เรื่องของความสงัดอาจจะหาได้ยากในยุคสมัยนี้ เพราะมีสื่อที่ให้ข่าวสาร บันเทิงมากมาย ตื่นขึ้นมาก็เปิดโทรทัศน์ติดตามข่าวสาร ดูมาก ฟังมากแทนที่จะทำให้เกิดความสงบก็มักจะเกิดอาการสับสนวิพากษ์วิจารณ์ไปตามกระแสข่าว เมื่อถึงที่ทำงานก็ยังวิจารณ์เหตุการณ์ต่างๆอีก ความสงบสงัดแทบจะหาไม่ได้ในแต่ละวัน อาวุธคือการฟังจึงไม่ค่อยจะแหลมคมเท่าที่ควรจะเป็น เพราะไปฟังเรื่องที่ไร้สาระมากว่าเรื่องที่มีสาระ
อาวุธคือความสงัดนั้นดูเหมือนจะหาได้ง่าย เพียงแค่หามุมสงบ ออกจากลุ่มผู้คน หาสถานที่ไม่มีสิ่งใดมารบกวน ก็ได้ความสงัดแล้ว แต่ข้อเท็จไม่ได้ง่ายอย่างนั้น แต่ละคนก็ต้องทำงานที่จะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้คน ยิ่งมากคนยิ่งมากเรื่อง บางวันฟังแต่เรื่องราวของคนอื่น บางครั้งก็เศร้าโศกตามคนอื่นไปด้วย กลับถึงที่พักก็ยังมีโทรทัศน์ที่เสนอเรื่องราวที่ไม่ใช่เรื่องของเรา แต่เป็นเรื่องของคนอื่นที่ทำให้เหมือนกับเป็นเรื่องของเรา ความเงียบสงัดจึงกลายเป็นสิ่งที่หาได้ยาก
ส่วนอาวุธคือปัญญาเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ในพระพุทธศาสนามีสุภาษิตบทหนึ่งที่แสดงว่าปัญญามาจากการเพ่งพิจารณา ดังที่แสดงไว้ในขุททกนิกาย คาถาธรรมบท (25/35/65) ความว่า “ฌานไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา ปัญญาไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน ฌานและปัญญามีอยู่ในผู้ใด ผู้นั้นแลอยู่ในที่ใกล้นิพพาน ภาษาบาลีใช้คำว่า
“นตฺถิ ปญฺญา อปญฺญสฺส นตฺถิ ปญฺญา อฌายโต
ยมฺหิ ฌานญฺจ ปญฺญา ส เว นิพฺพานสนฺติเกฯ
หนังสือพุทธศาสนสุภาษิต แปลความจากคำว่า “นตฺถิ ปญฺญา อฌายโต” ว่า ปัญญาไม่มีแก่ผู้เพ่งพินิจ
พจนานุกรมบาลีไทย อธิบายคำว่า “ฌาน” เป็นคำนามนปุงสกลิงค์ แปลว่าการเพ่งจนใจเป็นสมาธิ เพลิง ไฟ
2. เจริญวิปัสสนาเมื่อจิตสงบแล้ว
วิธีนี้เป็นผลต่อเนื่องมาจากสมถภาวนา เมื่อทำจิตใจให้สงบแล้ว ยกจิตขึ้นสู่การพิจารณาโดยใช้ปัญญาพิจารณาไตรลักษณ์ ให้เห็นถึงความเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป สรรพสิ่งทั้งหลายอยู่ใต้กฎแห่งสามัญญลักษณะ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา
การพิจารณาไตรลักษณ์ จะเริ่มต้นพิจารณาเมื่อประสบเหตุการณ์ในชีวิตก็ได้ หรือจะพิจารณษเมื่อจิตสงบเป็นสมาธิแล้วก็ได้ เป็นสิ่งธรรมดาที่มีอยู่ในโลก แต่หากไม่พิจารณาโดยแยบคายก็จะไม่เห็น หรือเห็นเป็นอย่างอื่น ดังนั้นไตรลักษณ์ต้องนำมาพิจารณาโดยแยบคายถึงจะเกิดปัญญา
ในพระไตรปิฎกแสดงสามัญญลักษณะไว้สามประการ ดังที่แสดงไว้ในอัชฌัตติกอนิจจสูตร สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค (18/1/1) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ หู ลิ้น กาย ใจ เป็นของไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นท่านทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในหู ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจมูก ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในลิ้นย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในใจ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
ความจริงของสิ่งทั้งย่อมเป็นไปตามกฎแห่งไตรลักษณ์คือ “ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา” นำมาพิจารณาตามเหตุการณ์ที่ได้พบเห็น ย่อมทำให้เกิดปัญญาเครื่องพิจารณาตน จากนั้นก็จะนำไปสู่การปล่อยวาง และการไม่ยึดมั่นถือมั่นในที่สุด
การบำเพ็ญวิปัสสนาโดยการพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันและเหตุกาณ์ต่างๆที่มาประสบกับตัวเรา อย่างน้อยก็เป๋นจุดเริ่มต้นแห่งการทำความเข้าใจ เข้าใจชีวิตเป็นเบื้องต้น เมื่อจะต้องมีเหตุการณ์การสูญเสีย การพลัดพราก ก็จะได้พิจารณาตามความเป้นจริงว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ก็ย่อมจะต้องเสื่อมไปเป็นธรรมดา
วิปัสสนาเบื้องต้นเป็นไปในทำนองนี้ สำหรับผู้ที่ยังจะต้องทำหน้าที่ในการทำมาหาเลี้ยงชีพต่อไป ก็เพียงแต่ทำความเข้าใจความเป็นธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย ส่วนจะปล่อยวางหรือไม่ยึดมั่นถือมั่นมากน้อยเพียงใดนั้น เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล
การบำเพ็ญวิปัสสนาในเมื่อประสบกับเหตุการณ์ต่างๆในชีวิต เช่นการสูญเสียญาติพี่น้องผู้เป็นที่รัก การประสบอุบัติเหตุ การที่จะต้องพลัดพรากจากของรักของชองชอบใจทั้งหลายทั้งปวง เกิด แก่ เจ็บ ตาย มีให้เห็นแทบทุกวัน จนกลายเป็นเรื่องปกติที่ไม่ค่อยจะได้พิจารณา ถ้าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับคนใกล้ชิดกับเรา หรือเกิดขึ้นกับตัวเราเอง บางครั้งหากไม่ใช้ปัญญาพิจารณาก็จะเศร้าโศกมากจนเกินความจำเป็น หากใช้ปัญญาพิจารณาตามหลักของไตรลักษณ์คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ซึ่งเป็นสิ่งสามัญทั่วไปของสิ่งทั้งหลาย อย่างน้อยความโศกก็จะเบาบางลง ชีวิตยังคงดำเนินต่อไป
3 เจริญวิปัสสนาพร้อมกับการกำหนดลมหายใจเข้าออก
การกำหนดลมหายใจเข้าออกเรียกว่า “อานาปานสติ” การเจริญอานาปานสติสมาธิภาวนา มีแสดงไว้หลายแห่ง เช่นในพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ (1/178) ทรงแสดงวิธีการบำเพ็ญอานาปานสติสมาธิไว้ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อานาปานสติสมาธิ อันภิกษุอบรมอย่างไร ทำให้มากอย่างไร จึงเป็นคุณสงบ ประณีต เยือกเย็น อยู่เป็นสุข และยังบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วๆ ให้อันตรธานสงบไปโดยฉับพลัน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ตาม อยู่ ณ โคนไม้ก็ตาม อยู่ในสถานที่สงัดก็ตาม นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรงดำรงสติบ่ายหน้าสู่กรรมฐาน ภิกษุนั้นย่อมมีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้สึกว่าหายใจเข้ายาว หรือเมื่อหายใจออกยาว ก็รู้สึกว่าหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้สึกว่าหายใจเข้าสั้น หรือเมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้สึกว่าหายใจออกสั้น ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งกองลมทั้งปวงหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่าเราจักรู้แจ้งซึ่งกองลมทั้งปวงหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งปีติหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งปีติหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งสุขหายใจเข้าย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งสุขหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งจิตสังขารหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งจิตสังขารหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับจิตสังขารหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับจิตสังขารหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งจิตหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งซึ่งจิตหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักยังจิตให้บันเทิงหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักยังจิตให้บรรเทิงหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่าเราจักตั้งจิตไว้มั่นหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักตั้งจิตไว้มั่นหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า
เราจักปล่อยจิตหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักปล่อยจิตหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นธรรมอันไม่เที่ยงหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นธรรมอันไม่เที่ยงหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นวิราคะหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นวิราคะหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นนิโรธหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นนิโรธหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นปฏินิสสัคคะหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นปฏินิสสัคคะหายใจออก ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติสมาธิ อันภิกษุอบรมแล้วอย่างนี้แล ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล จึงเป็นคุณสงบ ประณีต เยือกเย็น อยู่เป็นสุข และยังบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วๆ ให้อันตรธานสงบไปได้โดยฉับพลัน”
ข้อความที่ยกมาอาจจะยาวไปหน่อย แต่หากอ่านแล้ววิเคราะห์ไปตามตัวพยัญชนะโดยละเอียดแล้ว ย่อมสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง เริ่มต้นที่การเลือกใช้อาวุธในการเจริญวิปัสสนาคือ “ปวิเวกาวุธ อาวุธคือความสงัด” สมัยพุทธกาลคือป่า หรือโคนต้นไม้ แต่ในสมัยปัจจุบันอาจปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ห้องพักที่เงียบสงัดปราศจากเสียงรีบกวนก็ใช้ได้
ลมหายใจเป็นสิ่งที่ธรรมชาติให้มาพร้อมกับการกำเนิด คนที่มีชีวิตคือคนที่ยังมีลมหายใจ ดังนั้นลมหายใจจึงมีอยู่กับทุกคน เมื่อมีลมหายใจก็สามารถเจริญวิปัสสนาโดยการกำหนดลมหายใจได้ เป็นวิธีที่เรียบง่ายที่สุด แต่กลับเป็นสิ่งที่หลายคนมองข้าม เพราะมีสิ่งมารบกวนมากมายตามสภาพแวดล้อม สิ่งที่น่าจะง่ายที่สุดกลับเป็นสิ่งที่ทุกคนมองข้าม
ถ้าเราเลือกเวลาเพียงวันละไม่กี่นาที กำหนดลมหายใจเข้าออก กำหนดจิตจดจ่ออยู่กับลมหายใจ จิตก็จะเป็นสมาธินำไปสู่การเจริญวิปัสสนาได้
เมื่อจิตสงบแล้วนำองค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้มาพิจารณาคือ “สติ ธัมมวิจัย วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเปกขา” เมื่อธรรมเหล่านี้มาอยู่ในจิตย่อมเกิดปัญญา พระพุทธองค์เรียกคนเช่นนี้ว่า “คนมีปัญญา ไม่ใช่คนใบ้”
ผู้ที่เจริญโพชฌงค์ย่อมได้อานิสงส์ตามที่แสดงไว้ในสีลสูตร สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค (19/382) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อโพชฌงค์ 7 อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ ผลานิสงส์ 7 ประการ อันเธอพึงหวังได้คือ (1) ในปัจจุบัน จะได้บรรลุอรหัตผลโดยพลัน (2) ในปัจจุบันไม่ได้บรรลุ ทีนั้นจะได้บรรลุในเวลาใกล้ตาย (3) ถ้าในปัจจุบันก็ไม่ได้บรรลุ ในเวลาใกล้ตายก็ไม่ได้บรรลุ ทีนั้นจะได้เป็นพระอนาคามีผู้อันตราปรินิพพายี เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ 5 สิ้นไป (4)ถ้าในปัจจุบันก็ไม่ได้บรรลุ ในเวลาใกล้ตายก็ไม่ได้บรรลุ และไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้อันตราปรินิพพายี เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ 5 สิ้นไป ทีนั้น จะได้เป็นพระอนาคามีผู้อุปหัจจปรินิพพายีเพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ 5 สิ้นไป (5) ถ้าในปัจจุบันก็ไม่ได้บรรลุ ในเวลาใกล้ตายก็ไม่ได้บรรลุไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้อันตราปรินิพพายี และไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้อุปหัจจปรินิพพายี ทีนั้นจะได้เป็นพระอนาคามีผู้อสังขารปรินิพพายี เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ 5 สิ้นไป (6) ถ้าในปัจจุบันก็ไม่ได้บรรลุ ในเวลาใกล้ตายก็ไม่ได้บรรลุ ไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้อันตราปรินิพพายี ไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้อุปหัจจปรินิพพายี และไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้อสังขารปรินิพพายี ทีนั้น จะได้เป็นพระอนาคามีผู้สสังขารปรินิพพายี เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ 5 สิ้นไป (7) ถ้าในปัจจุบันก็ไม่ได้บรรลุ ในเวลาใกล้ตายก็ไม่ได้บรรลุ ไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้อันตราปรินิพพายี ไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้อุปหัจจปรินิพพายี ไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้อสังขารปรินิพพายี และไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้สสังขารปรินิพพายี ทีนั้นจะได้เป็นพระอนาคามีผู้อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ5 สิ้นไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อโพชฌงค์ 7 อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ผลานิสงส์ 7 ประการเหล่านี้ อันเธอพึงหวังได้
การเป็นคนมีบุญและคนมีปัญญาย่อมเป็นสิ่งที่ทุกคนปารถนา การทำบุญก็เพื่อให้ได้มาซึ่งความสุข การสร้างปัญญาก็เพื่อนำไปสู่ความฉลาด คนมีบุญแต่ขาดปัญญาเหมือนเดินทางไกลที่มีแต่เสบียงแต่ไม่มีเพื่อน คนมีปัญญาแต่ไม่มีบุญ มีคนเดินทางไกลที่มีเพื่อนแต่ไม่มีเสบียง ถ้ามีบุญเป็นเสบียง และมีปัญญาเป็นเพื่อน จะคิดพูดทำสิ่งใดย่อมประสบความสำเร็จได้ตามสมควร
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
11/01/61