ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

      ต้นไม้ใบหญ้าหากอยู่โดดเดี่ยวบางอย่างก็อาจจะไม่เป็นประโยชน์อะไรมากนัก แต่หากต้นไม้หลายต้นอยู่รวมกันจนเรียกว่าป่าไม้ การที่ต้นไม้สักต้นหรือดอกไม้สักดอกถูกทำลายอาจจะเป็นเหตุให้มีผลสะเทือนไปถึงสภาพแวดล้อมของธรรมชาติ การทำลายสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติมักจะส่งผลเป็นทอดๆในลักษณะที่เกี่ยวพันไปทั้งระบบ และอาจจะส่งผลกระทบไปถึงโลกที่เราอาศัยอยู่ได้ เหตุการณ์บางอย่างแม้จะกระทำการโดยคนเพียงไม่กี่คน แต่ผลที่เกิดขึ้นมีผลกระทบกับสังคมโดยรวม ยิ่งเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นกับสถาบันที่สังคมเคารพนับถือ แม้จะกระโดยคนเพียงคนเดียวแต่ก็มีผลกระทบสะเทือนไปทั้งองค์กรเข้าทำนองที่ว่าเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว

      บ่ายวันหนึ่งเจ้าอาวาสวัดไซเบอร์วนาราม เรียกรถแท็กซี่ไปส่งที่ศาลายา นครปฐม พอก้าวขึ้นนั่งเท่านั้น คนขับพูดขึ้นว่า “ทำไมไม่ซื้อเครื่องบินเจ็ทสักลำหละครับหลวงพี่ ผมเห็นหลวงพี่เดินทางบ่อย” แม้จะไม่ค่อยอยากได้ยินเรื่องนี้ แต่กระแสข่าวเรื่องนี้แรงมาก คนทั่วไปรับรู้กันแล้วเกี่ยวกับข่าวที่มีพระภิกษุรูปหนึ่งนั่งเครื่องบินส่วนตัว ใช้สินค้าราคาแพง ชาวบ้านทั่วไปได้ตั้งข้อสังเกตว่า “พระร่ำรวยผิดปรกติถึงกับมีเงินซื้อเครื่องบินซึ่งราคาหลายล้านบาท” ส่วนข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรนั้นต้องติดตามข่าวต่อไป คนขับรถแท็กซี่ยังคงวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆนานา ส่วนคนโดยสารก็โต้ตอบบ้างในบางครั้ง แม้จะแกล้งหลับหลายครั้ง แต่เมื่อคนขับไม่ยอมหยุดพูดจึงจำเป็นต้องฟัง เพราะถึงอย่างไรก็ขึ้นรถคันเดียวกันแล้วจะทำอย่างไรได้
      เมื่อรถไปส่งถึงจุดหมายปลายทางคือศาลายา นครปฐม กสิกะ ชินากรณ์ อาจารย์หนุ่มเดินกำลังยืนสนทนาอยู่กับนักศึกษากลุ่มหนึ่งหันมาเห็นพอดี และได้เอ่ยขึ้นว่า “อ้าว หลวงตาฯยังใช้บริการรถแท็กซี่อยู่หรือครับ น่าจะซื้อเครื่องบินส่วนตัวได้แล้ว”

      หลวงตาฯ ทำหน้ายิ้มเจื่อนๆ ได้แต่คร่ำครวญในใจว่าช่วงนี้คงหนีเรื่องนี้ไปไม่พ้น ข่าวโด่งดังปานนั้น  ในยุคสังคมข่าวสารคงต้องหนีข่าวไปไหนไม่ได้ ข่าวจะดีหรือร้ายก็ต้องรับฟังไว้
      กสิกะ ชินากรณ์ บอกว่า “ผมมีเรื่องจะปรึกษาหลวงตาฯอยู่พอดี พอจะมีเวลาว่างให้ผมสักสามสิบนาทีไหมครับ”
      “ได้สิ วันนี้ว่างทั้งวัน ไม่มีชั่วโมงสอน ไม่ได้นัดหมายกับนักศึกษาท่านใดไว้ มีเพียงงานของนักศึกษาอีกสองสามเล่มที่กำลังรอให้อ่านอยู่เท่านั้น”
      กสิกะ จึงเดินตามไปที่ห้องทำงานของหลวงตาไซเบอร์ฯ ซึ่งอยู่ชั้นสองของอาคาร มหาวิทยาลัยได้จัดห้องทำงานไว้หนึ่งห้อง สำหรับการทำงานซึ่งแม้จะเป็นหลวงตาฯแต่ก็พอมีความรู้สอนนักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท สอนมาหลายปีแล้ว สอนตั้งแต่นักธรรมชั้นตรี ชั้นนวกะ(พระบวชใหม่) และสอนบาลี วันหนึ่งสามรอบตั้งแต่เช้า บ่าย และตอนเย็น พักหลังๆจึงไม่ค่อยมีเวลาเขียนหนังสือเท่าไหร่นัก งานมันมากคิดหาเรื่องเขียนไม่ค่อยทัน
      ปรึกษาภารกิจไปได้สักพัก กสิกะ ชินากรณ์ก็วกเข้าสู่ประเด็นที่กำลังเป็นข่าวร้อนทันที “ช่วงนี้มีข่าวเกี่ยวกับพระภิกษุหลายข่าวเช่นพระมิตตซูโอะลาสิกขา พระนั่งเครื่องบิน พระถูกสลากกินแบ่งรางวัลที่หนึ่ง พระบางรูปมีรถหรูราคาหลายล้าน ทางการกำลังตรวจสอบ เป็นต้น แต่ละข่าวมักจะออกมาในทางลบ หลวงตาฯว่าจะมีทางแก้ไขไหมครับ”

      หลวงตาไซเบอร์จึงบอกว่า “อันที่จริงการเป็นอยู่ของพระภิกษุมีพระบัญญัติที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่าสิ่งไหนควรทำ สิ่งไหนไม่ควรทำ สิ่งที่ควรทำเรียกว่า “นิสสัย” หมายถึงเครื่องอาศัยของบรรพชิพ และสิ่งที่ไม่ควรทำเรียกว่า “อกรณียกิจ” คือกิจที่ไม่ควรทำ  ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระภิกษุสามเณร รวมเรียกว่า “อนุศาสน์” พระอุปัชฌาย์จะแสดงให้พระบวชใหม่ได้ถือปฏิบัติเรียกว่าการบอกนิสสัย นอกจากนั้นยังเป็นหลักพระวินัยที่ใช้ศึกษาเล่าเรียนสำหรับพระบวชใหม่และนักธรรมชั้นตรี หากบวชแล้วศึกษาเล่าเรียนก็จะต้องรู้จัก “อนุศาสน์” คือข้อที่ควรทำและข้อที่ไม่ควรทำ
      นิสสัยคือข้อที่พระภิกษุสามเณรควรถือปฏิบัติ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในพระวินัยปิฎก มหาวรรค (4/87/86) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตให้ภิกษุผู้ให้อุปสมบทบอกนิสสัยสี่ว่าดังนี้ (1) บรรพชาอาศัยโภชนะคือคำข้าวอันหาได้ด้วยกำลังปลีแข้ง เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต อดิเรกลาภ คือ ภัตถวายสงฆ์ ภัตเฉพาะสงฆ์ การนิมนต์ ภัตถวายตามสลาก  ภัตถวายในปักษ์ ภัตถวายในวันอุโบสถ์ ภัตถวายในวันปาฏิบท  (2)บรรพชาอาศัยบังสุกุลจีวร เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต อดิเรกลาภ  คือ ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ผ้าป่าน ผ้าเจือกัน (เช่นผ้าด้ายแกมไหม)  (3)บรรพชา อาศัยโคนไม้เป็นเสนาสนะ เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต  อดิเรกลาภ คือ วิหาร เรือนมุงแถบเดียว เรือนชั้น เรือนโล้น ถ้ำ (4)      บรรพชาอาศัยมูตรเน่าเป็นยา เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต อดิเรกลาภคือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย”

      สรุปได้สั้นๆว่าชีวิตพระภิกษุอยู่ได้ด้วยปัจจัยสี่อย่างคือ “อาหารบิณฑบาต ผ้าบังสุกุล อยู่โคนต้นไม้ และฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า”
      กสิกะ เสนอความเห็นแทรกขึ้นมาว่า “แหมนั่นมันสมัยพุทธกาล นับจากวันตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าก็เป็นเวลานานกว่าสองพันหกร้อยปีมาแล้ว สรรพสิ่งทั้งหลายก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แม้แต่คนในสังคมก็ยังต้องเปลี่ยน การคมนาคมสมัยก่อนใช้วิธีเดินด้วยเท้า ใช้โคเทียมเกวียน ปัจจุบันก็เปลี่ยนมาเป็นรถยนต์ เครื่องบิน เพื่อประหยัดเวลาในการเดินทาง คนจะได้มีเวลาทำงานมากขึ้น พระสงฆ์ก็ต้องปรับเปลี่ยนบ้าง เช่นอยู่โคนต้นไม้ไม่สะดวกแล้ว เพราะป่าไม้เหลือน้อย ที่เหลือส่วนหนึ่งก็เป็นป่าสงวน พระสงฆ์ก็ต้องมีวัดมีกุฎีที่พักเป็นสัดส่วน จะให้ท่องเที่ยวไปเหมือนในสมัยก่อนคงไม่สะดวก แล้วสิ่งที่ไม่ควรทำสำหรับพระภิกษุสามเณรคืออะไรครับ”
      “อ้าวนึกว่าจะอธิบายเสียเอง เห็นพูดซะยาว”
       กสิกะหันมาพูดด้วยรอยยิ้มจางๆว่า “หรือว่าท่านก็ตอบไม่ได้”

     อาตมาสอนนักธรรมชั้นตรีมาหลายปีจึงท่องได้ คำว่าสิ่งที่พระภิกษุไม่ควรทำเรียกว่า “อกรณียกิจ” นั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในพระวินัยปิฎก มหาวรรค (4/144/187) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย  เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ให้อุปสมบทแล้วให้ภิกษุอยู่เป็นเพื่อน และให้บอกอกรณียกิจสี่ดังต่อไปนี้(1)อันภิกษุผู้อุปสมบทแล้ว ไม่พึงเสพเมถุนธรรม โดยที่สุดแม้ในสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย ภิกษุใดเสพเมถุนธรรม ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เปรียบเหมือนบุรุษ  ถูกตัดศีรษะแล้ว ไม่อาจจะมีสรีระคุมกันนั้นเป็นอยู่ ภิกษุก็เหมือนกัน  เสพเมถุนธรรมแล้วไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร การนั้น เธอไม่พึงทำตลอดชีวิต (2)อันภิกษุผู้อุปสมบทแล้ว ไม่พึงถือเอาของอันเขาไม่ได้ให้ เป็นส่วนขโมย โดยที่สุดหมายเอาถึงเส้นหญ้า ภิกษุใดถือเอาของอันเขาไม่ได้ให้ เป็นส่วนขโมย ได้ราคาบาทหนึ่งก็ดี ควรแก่ราคาบาทหนึ่งก็ดี เกิดบาทหนึ่งก็ดี ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร  เปรียบเหมือนใบไม้เหลืองหล่นจากขั้วแล้วไม่อาจจะเป็นของเขียวสด. ภิกษุก็เหมือนกัน ถือเอา  ของอันเขาไม่ได้ให้ เป็นส่วนขโมย ได้ราคาบาทหนึ่งก็ดี ควรแก่ราคาบาทหนึ่งก็ดี เกินบาทหนึ่งก็ดี ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร การนั้น เธอไม่พึงทำตลอดชีวิต(3)อันภิกษุผู้อุปสมบทแล้ว ไม่พึงแกล้งพรากสัตว์จากชีวิต โดยที่สุดหมายเอาถึงมดดำมดแดง ภิกษุใดแกล้งพรากกายมนุษย์จากชีวิต โดยที่สุดหมายเอาถึงยังครรภ์ให้ตก ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เปรียบเหมือนศิลาหนาแตกสองเสี่ยงแล้ว เป็นของกลับต่อกันไม่ได้. ภิกษุก็เหมือนกัน แกล้งพรากกายมนุษย์จากชีวิตแล้ว ไม่เป็นสมณะไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร. การนั้น เธอไม่พึงทำตลอดชีวิต (4)อันภิกษุผู้อุปสมบทแล้ว ไม่พึงพูดอวดอุตตริมนุสสธรรม โดยที่สุดว่า เรายินดียิ่ง ในเรือนว่างเปล่า. ภิกษุใดมีความปรารถนาลามก  อันความปรารถนาลามกครอบงำแล้ว พูดอวด  อุตตริมนุสสธรรม อันไม่มีอยู่ อันไม่จริง คือฌานก็ดี วิโมกข์ก็ดี สมาธิก็ดี สมาบัติก็ดี  มรรคก็ดี ผลก็ดี ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เปรียบเหมือนต้นตาลมียอดด้วน  แล้ว ไม่อาจจะงอกอีก ภิกษุก็เหมือนกัน มีความปรารถนาลามก อันความปรารถนาลามกครอบงำแล้ว พูดอวดอุตตริมนุสสธรรม อันไม่มีอยู่ อันไม่เป็นจริง ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตรการนั้น เธอไม่พึงทำตลอดชีวิต

     กสิกะบอกว่า “ยาวไปคนทั่วไปอ่านแล้วเข้าใจยากกรุณาพูดเป็นภาษาชาวบ้านให้เข้าใจง่ายๆหน่อยได้ไหมครับ”       
      สรุปได้สั้นๆก็ได้  “สิ่งที่ภิกษุไม่ควรทำมีสี่อย่างคือ ห้ามเสพเมถุน(การมีเพศสัมพันธุ์ มีครอบครัวเหมือนชาวบ้าน) ห้ามลักขโมยของเขา ห้ามฆ่าสัตว์ และห้ามอวดอุตตริมนุสธรรม (อวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน) ทั้งสี่ข้อเป็นวินัยสำคัญที่สุดของพระภิกษุเรียกว่า “ปาราชิก” หากใครกระทำก็ต้องพ้นจากความเป็นภิกษุ แต่ต้องวินิจฉัยก่อน เพราะบางทีเช่นการลักขโมยนั้นต้องดูที่เจตนาด้วย ท่านกำหนดราคาสิ่งของไว้ด้วยว่าจำนวนเท่าใดจึงจะต้องอาบัติประเภทไหนซึ่งมีการปรับโทษหนักเบาตามสมควร”
      กสิกะ ชินากรณ์บอกว่า “เท่าที่ฟังมาก็ไม่เห็นว่าจะมีเครื่องบินเจ็ทตรงไหน”
      “พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้นานแล้วสมัยนั้นยังไม่มีเครื่องบิน ไม่มีรถยนต์ มีแต่เกวียนเทียมโค หรือม้าเป็นพาหนะ พอมาถึงสมัยปัจจุบัน บางคนอาจจะตีความตามพระไตรปิฎกว่าสิ่งใดที่ไม่ปรากฏในพระไตรปิฎกย่อมไม่ผิดพระธรรมวินัย พระพุทธเจ้าทรงเล็งเห็นเรื่องในอนาคต ว่าจะต้องมีผู้สงสัยจึงได้วางแบบแห่งการปฏิบัติไว้สำหรับการแก้ปัญหาเรียกว่า “มหาปเทส” หมายถึงหลักใหญ่สำหรับอ้างเพื่อสอบสวนเทียบเคียง แสดงไว้ในพระวินัยปิฏก มหาวรรค (5/92/123) ความว่า “โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายเกิดความรังเกียจในพระบัญญัติบางสิ่งบางอย่างว่าสิ่งใดหนอ พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตไว้ สิ่งไรไม่ได้ทรงอนุญาต จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคได้ตรัสประทานสำหรับอ้างสี่ข้อ ดังต่อไปนี้ (1) ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราไม่ได้ห้ามไว้ว่า สิ่งนี้ไม่ควร หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควรแก่เธอทั้งหลาย  (2) ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เราไม่ได้ห้ามไว้ว่า สิ่งนี้ไม่ควร หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ควร  ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควรแก่เธอทั้งหลาย (3) ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราไม่ได้อนุญาตไว้ว่า สิ่งนี้ควร หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควรแก่เธอทั้งหลาย (4) ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราไม่ได้อนุญาตไว้ว่า สิ่งนี้ควร หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ควร ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควรแก่เธอทั้งหลาย

      หากพระภิกษุซื้อเครื่องบินส่วนตัวซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมาก แม้พระพุทธเจ้าจะไม่ได้ห้ามไว้แต่   เจตนารมณ์เพื่อให้ภิกษุอยู่ง่าย กินง่าย ไปง่าย มาง่าย มีอาหารเพียงแค่พอประทังชีวิต ใช้ผ้าก็เพียงพอแก่การปิดบังความละอาย ที่อยู่อาศัยก็ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน แม้แต่ยารักษาโรคก็ให้ใช้ของที่มีอยู่ตามธรรมชาติ สรุปว่าปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิตสามารถอยู่ได้ด้วยปัจจัยสี่คือ “อาหารบิณฑบาต ผ้าบังสุกุล อยู่โคนต้นไม้ และฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า” ลองไปพิจารณาดูก่อนว่าการที่พระภิกษุมีสมบัติมากเกินความจำเป็นนั้นเป็นสิ่งที่ควรหรือไม่ควร หากไม่ควรจะปรับอาบัติข้อไหน เรื่องยังไม่จบอย่าพึ่งด่วนสรุป
      กสิกะ ชินากรณ์ บอกว่า “ผมจะลองนำไปพิจารณาอีกที แต่ว่าเมื่อมีเหตุการณ์เกี่ยวกับพระสงฆ์เกิดขึ้น ก็ทำให้ประชาชนมองพระสงฆ์ในแง่ของการร่ำรวยเกินความจำเป็น ลักษณะอย่างนี้น่าจะเรียกว่าเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวนะครับ แม้ว่าความหมายดั้งเดิมของคำว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” จะมีความหมายบ่งถึงการกระทบของสภาพแวดล้อมภายนอกที่ส่งผลต่อกันมาเป็นทอดๆ ในลักษณะที่เกี่ยวพันกันทั้งระบบ เป็นการตีความในแง่ธรรมชาติ หมายถึงการทำลายธรรมชาติแม้เพียงเล็กน้อย จะส่งผลกระทบถึงทั้งโลกที่เราอยู่  แต่จากเหตุการณ์ที่เป็นข่าวเกี่ยวกับพระสงฆ์ในช่วงนี้ น่าจะใช้ได้กับเหตุการณ์นี้ได้” พูดจบกสิกะ ชินากรณ์ก็บอกลา “ผมมีสอนในช่วงสี่โมงเย็นครับ”

   เจ้าอาวาสวัดไซเบอร์วนารามจึงบอกว่า “เออ ว่าแต่เกรดนักศึกษาในเทอมที่แล้วนะ ส่งเกรดเรียบร้อยหรือยัง ประเดี๋ยวจะเป็นเหมือนนักศึกษาที่เรียนมาแล้วตั้งสี่ปี อาจารย์จึงส่งเกรดตามที่เป็นข่าว”
      มองเห็นเพียงรอยยิ้มของกสิกะ ชินกรณ์เพียงแว็บเดียว ก่อนจะเดินฝ่าเปลวแดดไปยังอาคารเรียน โดยไม่ได้รับคำตอบ


 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
20/06/56

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก