ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

           มนุษย์ส่วนหนึ่งมักจะไม่ค่อยพอใจในสิ่งที่ตนเองกำลังเป็นอยู่ มักจะคิดอยากเป็นนั่นเป็นนี่ บางครั้งสิ่งที่อยากเป็นอาจจะไม่สามารถเป็นได้ สิ่งที่ทำได้คือความฝันคิดในสิ่งที่อยากจะเป็น เช่นหากเป็นนกจะบินไปทั่วท้องฟ้า หากเป็นเทวดาคงจะอยู่สบาย หรือหากเป็นเจ้านายคงจะไม่ได้ทำงานหนักเป็นค้น ดังนั้นสิ่งที่อยู่ในใจมนุษย์คือความฝัน ฝันอยากจะเป็นในสิ่งที่เราไม่อาจจะเป็นได้ในช่วงนี้หรือในขณะแห่งความเป็นจริง ความฝันทำให้มนุษย์ลืมสภาพปัจจุบันที่ตนเองดำรงอยู่ แม้จะเพียงชั่วครู่ ความฝันบางอย่างแม้จะไม่มีทางเป็นจริงได้ แต่มนุษย์ก็ยังชอบฝันอย่างน้อยความฝันก็เป็นเครื่องโชลมใจ

           มีผู้กล่าวไว้ว่า “ในมนุษย์คนหนึ่งนั้นมีตัวตนที่สำคัญอยู่สามอย่างคือ ตัวตนที่เป็นเราจริงๆ ตัวตนที่คิดว่าเราเป็น และตัวตนที่เราอยากจะเป็น” ตัวตนทั้งสามอย่างนี้อยู่ในตัวตนของคนๆเดียว ขึ้นอยู่กับว่าเราจะยอมรับตัวตนที่แท้จริงของเราได้มากน้อยแค่ไหน
           จำได้ว่าครั้งหนึ่งเมื่อครั้งที่ไปพักอาศัยที่วัดโภคัลพุทธวิหาร กรุงเดห์ลี ประเทศอินเดีย มีโยมชาวอินเดียคนหนึ่งมานิมนต์พระสงฆ์ไปเจริญพุทธมนต์และฉันภัตตาหารเพลที่บ้าน เขาบอกว่าอยากทำบุญบ้านตามประเพณีของชาวพุทธ เจ้าอาวาสวัดโภคัลพุทธวิหารซึ่งเป็นพระสงฆ์ไทยได้รับนิมนต์ไว้ ในช่วงนั้นบังเอิญว่าผู้เขียนเดินทางไปขออาศัยที่วัดแห่งนั้นพอดี พระภิกษุสามเณรทั้งวัดมีอยู่เพียงสามรูป หนึ่งเจ้าอาวาส สองสามเณรชาวอินเดียและพระอาคันตุกะผู้พลัดถิ่นที่กำลังรอเดินทางกลับเมืองไทย

           วันนั้นไปกันสามรูปจึงถามผ่านสามเณรชาวอินเดียซึ่งทำหน้าที่เป็นล่ามว่า “โยมเป็นชาวพุทธ นับถือพระพุทธศาสนามานานหรือยัง”
           ชายชาวอินเดียคนนั้นบอกว่า “ผมไม่ใช่ชาวพุทธครับ ผมเป็นฮินดู นับถือศาสนาฮินดู แต่ก็ชอบเข้าวัดในพระพุทธศาสนา พ่อผมเคยนับถือศาสนาพุทธ โดยเปลี่ยนตาม ดร. เอ็มเบ็ดการ์ สมัยผมเป็นเด็กพ่อเคยพาเข้าวัด นั่งสมาธิประจำครับ แต่เมื่อพ่อเสียชีวิตแล้ว เพื่อความสะดวกบางอย่างผมจึงต้องหันไปปฏิบัติตนแบบฮินดู ซึ่งทำให้อยู่ในสังคมได้อย่างไม่ขัดแย้งกับชุมชน การงานก็ไม่มีปัญหา เพราะวัดของชาวพุทธสำหรับคนอินเดียมีน้อยครับ ส่วนมากจะเป็นวัดที่ชาวพุทธจากประเทศอื่นมาสร้างไว้เช่นวัดพม่า วัดทิเบต วัดกัมพูชา วัดลาว วัดไทยเป็นต้น
           วัดที่เป็นของชาวอินเดียจริงๆจึงมีน้อยมาก คนอินเดียที่บวชพระก็มักจะเป็นพระสงฆ์แบบมหายานมากกว่าซึ่งผมไม่ค่อยชอบพิธีกรรมแบบนั้น ผมชอบพิธีปฏิบัติแบบเถรวาทมากกว่า ผมพยายามศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาด้วยตนเองมานานแล้วครับ แม้ว่าวิถีชีวิตามปกติจะเป็นแบบฮินดูก็ตาม ผมเป็นประเภทฮินดูผสมพุทธนะครับ” ชายคนนั้นสาธยายอย่างยืดยาว

           บ้านของเขาอยู่ไกลจากวัดโภคัลพุทธวิหารมาก รถผ่านประตูอินเดีย มองเห็นเป็นสัญลักษณ์แห่งความเสียสละ ไม่รู้ว่ามีกี่ชีวิตที่พลีร่างเพื่อปกป้องความเป็นอินเดียไว้ ผ่านเสาหินพระเจ้าอโศกซึ่งก็เป็นสัญลักษณ์แห่งความรุ่งเรืองในอดีตของพระพุทธศาสนา  รถมุ่งหน้าไปนอกเมือง มีช่วงหนึ่งที่รถผ่านมาชนู กติลลา หรือที่นักศึกษาชาวไทยชอบเรียกขานติดปากว่า “ทิเบตแคมป์” สมัยหนึ่งผู้เขียนเคยพักอาศัยทิเบตแคมป์เมื่อครั้งที่เป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลันเดห์ลี แต่ทว่าการศึกษาในครั้งนั้นไม่ประสบความสำเร็จ จึงเรียนไม่จบหลักสูตรใดๆเลย  สิ่งที่ได้มาจึงมีเพียงประสบการณ์นอกห้องเรียนและความทรงจำที่ไม่มีวันลืม
           “ทิเบตแคมป์” ที่เห็นในครั้งนี้มีความเจริญขึ้นมาก ตึกรามบ้านช่องผุดขึ้นจนกระจายไปเกือบถึงสะพานข้ามแม่น้ำยมุนา วันนั้นไม่มีโอกาสได้ไปเยือนถิ่นเก่าที่เคยพัก ผู้คนที่เคยรู้จักคงเหลือน้อยแล้ว หรือหากจะมีอยู่บ้างก็คงไม่มีใครจำได้ กาลเวลาเปลี่ยนคนก็เปลี่ยนนั่นคือสัจธรรมที่เป็นสิ่งธรรมดา
           บ้านที่นิมนต์ไปเจริญพุทธมนต์ฉันเพลในวันนั้น ต้องข้ามแม่น้ำยมุนาไปอีกฝั่ง ผ่านทุ่งนา ผ่านชนบทเข้าไปยังชุมชน เป็นชุมชนที่อยู่ชานเมืองหลวง

           ไปถึงบ้านใกล้เวลาฉันเพลแล้ว ภรรยาและลูกชายสองคนพร้อมด้วยลูกสาวออกมาต้อนรับ ทักทายเป็นภาษาอังกฤษชัดแจ๋ว พูดภาษาอังกฤษได้คล่อง ลูกชายคนโตอายุประมาณสิบขวบนำน้ำมาล้างเท้าให้พระภิกษุทั้งสองรูปพร้อมด้วยสามเณร จากนั้นก็พาไปบนบ้านพัก ซึ่งใช้ห้องนอนจัดเป็นห้องเจริญพุทธมนต์
           ผู้มาร่วมงานมีเพียงแปดคน เจ้าของบ้านพร้อมด้วยลูกห้าคน และพี่ชายพร้อมกับพี่สะใภ้และลูกสาว พิธีกรรมเรียบง่ายมาก คืออาราธนาศีล จากนั้นเจ้าอาวาสก็เป็นผู้ให้ศีล และเริ่มเจริญพุทธมนต์ตามธรรมเนียมพิธีทำบุญในเมืองไทย ในช่วงเจริญพุทธมนต์นั้นทุกคนนั่งสมาธิสงบนิ่ง
           เสร็จจากเจริญพุทธมนต์ก็ถึงเวลาฉันเพล อาหารในวันนั้นมีเพียงจาปะตีไม่กี่แผ่น มีข้าวผสมนมสดและมีผลไม้อีกสองสามชนิด แต่ทว่าการฉันเพลในวันนั้นแม้ว่าอาหารจะไม่มากแต่รู้สึกอิ่มพอดี อิ่มทั้งอาหารและอิ่มใจ    
           ฉันภัตตาหารเสร็จเป็นช่วงเวลาสนทนาธรรม ชายเจ้าของบ้านบอกว่า “โดยสภาพที่คนอื่นเห็นรวมทั้งการปฏิบัติผมเป็นฮินดู แต่สิ่งที่ผมเป็นและปฏิบัติคือหลักธรรมในพระพุทธศาสนาควบคู่ไปกับหลักคำสอนของฮินดู  สิ่งที่ผมอยากเป็นคือเป็นชาวพุทธ ผมอยากบวชเป็นพระ แต่ก็ทิ้งภาระในการเลี้ยงดูครอบครัวไม่ได้ ในสังคมอินเดียคงยากที่จะทำให้คนอื่นยอมรับได้ ในตัวตนของผมจึงเหมือนมีเงาร่างสามอย่างแฝงอยู่ในคนๆเดียวคือสิ่งที่เราเป็น สิ่งที่คนอื่นคิดว่าเราเป็น และสิ่งที่ผมอยากเป็น”

           พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นในชมพูทวีปซึ่งปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของประเทศอินเดีย พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาแสดงมหาสติปัฏฐานสูตร แก่ชาวกุรุ ในกัมมาสทัมนิคม นครอินทปัตถ์ ปัจจุบันยังมีหลักฐานเป็นภูเขาหินตั้งอยู่ในเขตไกรลาศตะวันออก กรุงนิวเดห์ลี เป็นกองหินสีแดงขนาดย่อม  และมีแผ่นหินขนาดใหญ่ก้อนหนึ่งในบริเวณกองหิน มีข้อความจารึกด้วยอักษรพราหมมี เชื่อกันว่าพระเจ้าอโศกเป็นผู้จารึกไว้ เพื่อแสดงเป็นหลักฐานให้ทราบว่าเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าได้แสดงมหาสติปัฏฐานสูตร
           สรรพสิ่งทั้งหลายมีความแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย มีความเป็นธรรมดาคือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา ดังที่แสดงไว้อุปปาทสูตร อังคุตตรนิกาย ติกกนิบาต (20/576/368) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะตถาคตอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่อุบัติขึ้นก็ตาม ธาตุนั้นคือความตั้งอยู่ตามธรรมดา ความเป็นไปตามธรรมดาก็คงตั้งอยู่อย่างนั้นเอง ตถาคตตรัสรู้ บรรลุธาตุนั้นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยงครั้นแล้วจึงบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้เข้าใจง่ายว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง
           ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะตถาคตอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่อุบัติขึ้นก็ตาม ธาตุนั้นคือความตั้งอยู่ตามธรรมดา ความเป็นไปตามธรรมดา ก็คงตั้งอยู่อย่างนั้นเอง ตถาคตตรัสรู้ บรรลุธาตุนั้นว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ครั้นแล้วจึงบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้เข้าใจง่ายว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์
           ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะตถาคตอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่อุบัติขึ้นก็ตามธาตุนั้น คือ ความตั้งอยู่ตามธรรมดา ความเป็นไปตามธรรมดา ก็คงตั้งอยู่อย่างนั้นเอง ตถาคตตรัสรู้ บรรลุธาตุนั้นว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ครั้นแล้วจึงบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้เข้าใจง่ายว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา”

           สภาพแห่งความเป็นธรรมดากำหนดแห่งความเป็นธรรมดา ความไม่แน่นอน หรืออาจจะเรียกว่ากฎแห่งธรรมชาติคือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา สรรพสิ่งที่เคยมีในกาลหนึ่ง ก็แปรเปลี่ยนไปอีกอย่างหนึ่งนั่นคือความเป็นธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย พระบรมศาสดาทรงค้นพบความจริงแล้วนำมาแสดงให้โลกได้รับรู้
           พระพุทธศาสนาเคยเจริญรุ่งเรืองในดินแดนนี้มาก่อน กาลเวลาผ่านไปสองพันกว่าปี ผู้คนที่เคยนับถือและปฏิบัติตามหลักคำสอนก็เปลี่ยนไปนับถือลัทธิความเชื่ออื่น เหมือนครอบครัวของชาวฮินดูชานกรุงกรุงเดห์ลีที่เคยมีบรรพบุรุษนับถือพระพุทธศาสนา แต่ปัจจุบันจึงเหลือไว้เพียงสิ่งที่เขาอยากเป็น

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
18/08/57

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก