ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

             ครั้งหนึ่งมีการจัดสัมมนาเรื่อง “มองพระพุทธศาสนาในศรีลังกาและเกาหลีใต้สะท้อนปัญหาพระพุทธศาสนาไทย” โดยนักศึกษาศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย นักศึกษากลุ่มนี้กำลังศึกษาในระดับปริญญาเอก การสัมมนาในครั้งนั้น แม้จะไม่ได้บทสรุปที่เป็นรูปธรรมแต่ก็ได้เห็นทัศนะที่หลากหลาย เพราะประเทศศรีลังกานับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทเหมือนกับประเทศไทย เคยเจริญรุ่งเรืองโดยมีกษัตริย์เหมือนประเทศไทย ส่วนเกาหลีใต้พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทก็เคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อน ต่อมาจึงหันไปนับพระพุทธศาสนานิกายมหายานและศาสนาอื่น ทั้งสองประเทศเคยปกครองด้วยกษัตริย์เหมือนประเทศไทย แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไป แต่ประเทศไทยยังคงมีพระมหากษัตริย์และยังมีพระพุทธศาสนาเถรวาทอยู่คู่กับประเทศไทย     
             แม้ว่านักศึกษาที่เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนั้นจะจบการศึกษาไปเกือบหมดแล้ว แต่ก็ยังมีบางท่านยังคงเวียนว่ายตายเกิดหน้าดำคร่ำเครียดกับการทำวิทยานิพนธ์เพื่อให้จบตามหลักสูตร ชื่อที่ใช้อ้างในเรื่องนี้เป็นชื่อที่ใช้เมื่อเริ่มเข้าศึกษา ส่วนใครที่มี ดร.นำหน้าแล้วก็ต้องขออภัยด้วย ในงานสัมมนาครั้งนั้นบังเอิญเว็บมาสเตอร์ไซเบอร์วนารามอยู่ในเหตุการณ์ด้วยและได้จดบันทึกความเห็นของนักศึกษาเหล่านั้นไว้ จากนั้นจึงไปค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลอื่นๆ เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์จึงได้นำมาให้อ่านกัน

ศรีลังกาเมื่อพุทธศักราชที่ 1 
             ตามประวัติศาสตร์ประเทศศรีลังกาเริ่มต้นขึ้นเมื่อเจ้าชายวิชัยโอรสพระเจ้าสีหพาหุแห่งลาฬประเทศ อินเดียใต้ ยกพลขึ้นบกยึดครองเกาะลังกา ตั้งราชวงศ์สิงหลขึ้น ตรงกับวันพุทธปรินิพพานพอดี  และศรีลังกาปกครองโดยระบอบกษัตริย์จาก พ.ศ 1 เรื่อยมาโดยเปลี่ยนราชวงศ์ปกครองกันหลายราชวงศ์และสิ้นสุดการปกครองระบบกษัตริย์ในยุคที่อังกฤษปกครองศรีลังกาประมาณ พ.ศ. 2294  จนกระทั่งลังกาได้รับเอกราชเมื่อ พ.ศ. 2491 จึงเรียกชื่อประเทศว่าสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา เป็นอันสรุปได้ว่าระบบกษัตริย์ปกครองศรีลังกาประมาณสองพันกว่าปี    
             ส่วนประเทศไทยปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ประมาณปี พ.ศ. 1800 จนถึงปัจจุบัน มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกตามรัฐธรรมนูญมาตรา 9 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 
           พระพุทธศาสนาเข้าสู่ลังกาพร้อมกับในคราวสังคายนาครั้งที่สามประมาณ พ.ศ. 236 พระโสณะอุตตระเดินทางมายังสุวรรณภูมิ ส่วนพระมหินทเถระ เดินทางมายังลังกา พร้อมด้วยพระสี่รูป สามเณรหนึ่งรูป และอุบาสกหนึ่งคน ในรัชสมัยของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ ซึ่งเป็นกษัตริย์ของลังกาและเป็นพระสหายของพระเจ้าอโศกมหาราช   


             พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะทรงศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้อุทิศมหาเมฆวันอุทยานเป็นวัด เรียกว่า “วัดมหาวิหาร” ถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ พระพุทธศาสนาเข้าสู่ลังกาในยุคนี้ เป็นพุทธศาสนาแบบเถรวาท 
             พระมหินทเถระได้นำเอาพระไตรปิฎกและอรรถกถาไปสู่ลังกาด้วย การเดินทางไปสู่ลังกาของพระมหินทเถระในครั้งนั้น นอกจากเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแล้ว ยังถือว่าเป็นการปลูกฝังวัฒนธรรมของชาวลังกา เพราะท่านมิเพียงแต่นำเอาพระพุทธศาสนาไปเท่านั้น ท่านยังได้นำเอาอารยธรรม ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม เข้าไปด้วย ลำดับต่อมา พระนางอนุฬาเทวีมเหสีและสตรีบริวารจำนวนมาก ปรารถนาจะอุปสมบทบ้าง พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะจึงทรงส่งคณะทูตไปสู่ราชสำนักของพระเจ้าอโศก ทูลขอพระสังฆมิตตาเถรี และกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ ด้านทักษิณมาสู่ลังกาทวีป และพระนางสังฆมิตตาเถรีเป็นอุปัชญาย์บรรพชาอุสมบทแก่สตรีชาวลังกาได้ตั้งคณะภิกษุณีขึ้นในลังกา 
             ส่วนในประเทเกาหลีมีหลักฐานว่า    พระพุทธศาสนาเริ่มเข้าสู่ประเทศเกาหลีเมื่อ พ.ศ. 915 โดยสมณทูตซุนเตา เดินทางจากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอาณาจักรโกคุริโอ คือ ประเทศเกาหลีในปัจจุบัน พระพุทธศาสนาได้ขยายเข้ามาในเกาหลีอย่างรวดเร็ว เพียง    ระยะเวลา 20 ปีก็มีการสร้างวัดขึ้นมากมายเฉพาะเมืองหลวงแห่งเดียว9วัด
             ประเทศเกาหลี ในสมัยก่อนนั้นประกอบด้วย 3 อาณาจักรคือ โกคุริโอ  ปีกเช  และซิลลา แต่ผู้นำทั้ง 3 อาณาจักรก็นับถือพระพุทธศาสนา และให้การสนับสนุนกิจการต่างๆ อันที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเสมอ และที่สำคัญได้ทรงถือว่า “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ”  เพราะคำสอนของพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ส่งเสริม และให้การศึกษาแก่ประชาชน และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชน พร้อมทั้งสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชาติ พระพุทธศาสนาจึงมีความเจริญรุ่งเรืองตลอดมา 
             ในปัจจุบันคณะสงฆ์ในประเทศเกาหลีใต้ ถือว่าเป็นคณะสงฆ์ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดปรับตัวให้ทันกับเหตุการณ์ต่างๆอยู่เสมอเพื่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนานั่นเอง กิจการที่พระสงฆ์เกาหลีใต้สนใจ และทำกันอย่างเข้มแข็งจริงจังที่สุดคือ การศึกษา ซึ่งเรื่องนี้เป็นการสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในด้านการศึกษานอกจากจะมีโรงเรียนพระปริยัติธรรมสำหรับสอนพระภิกษุ ภิกษุณี สามเณร และสามเณรี (สตรีที่จะบวชเป็นภิกษุณี)แล้ว คณะสงฆ์เกาหลีใต้ยังมีสถานศึกษาฝ่ายสามัญระดับต่างๆที่เปิดรับนักเรียนชายหญิงโดยทั่วไปด้วย ซึ่งสถาบันเหล่านี้มีคฤหัสถ์(บุคคลทั่วไป)เป็นผู้บริหาร แต่อยู่ในความควบคุมดูแลของคณะกรรมาธิการฝ่ายการศึกษาของคณะสงฆ์  มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดของเกาหลีคือ มหาวิทยาลัยดงกุก  ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2449 ปัจจุบันมีนักศึกษาชายทั้งหมด 6,000 คน มีภิกษุสามเณรศึกษาอยู่ด้วยประมาณ 60 รูป   

            ปัจจุบันศรีลังกามีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ  มีกระทรวงพระพุทธศาสนาเพื่อดูแลกิจการพระพุทธศาสนา ในขณะที่ประเทศไม่มีรัฐธรรมนูญกล้าเขียนไว้ว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ก็ยังดีที่มีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีผู้อำนวยการเป็นผู้ดูแล 
             ในส่วนของการบริหารองค์กรสงฆ์ศรีลังกาย่อมดีกว่าไทยเพราะมีหน่วยงานระดับกระทรวงดูแล แต่ทั้งสองประเทศถือว่าเป็นประเทศที่มีประชากรนับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทมากที่สุดในโลก 
             ในช่วงที่อังกฤษปกครองศรีลังกานั้น พุทธศาสนาตกต่ำมากเพราะถูกศาสนาคริสต์เบียดเบียนรังแก รุกราน ถูกปฏิบัติเหมือนเป็นพลเมืองชั้นสอง หากรับราชการก็ไม่ก้าวหน้า หากอยากก้าวหน้าก็ต้องเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์  นอกจากนั้นยังมีการใช้กลไกของรัฐทำให้สถานภาพของภิกษุสามเณรเสื่อมลง  ที่หนักที่สุดคือรัฐประกาศห้ามทำพิธีกรรมในวันสำคัญทางศาสนา ชาวพุทธจึงอยู่อย่างลำบาก แต่ยังดีที่มีพระรูปหนึ่งนามว่าคุณานันทะที่ลุกขึ้นต่อสู้กับนักปราชญ์คริสต์ เพื่อกอบกู้พระพุทธศาสนากลับคืนมาโดยการท้าโต้วาทีกับบาทหลวงในศาสนาคริสต์ มีบันทึกไว้ว่า “การโต้วาทีครั้งนี้ เกิดขึ้นที่สนามกลางเมืองปานะทุระ เริ่มขึ้นในเช้าวันที่ 26 สิงหาคม 2416 สิ้นสุดลงวันที่ 28  เดือนเดียวกัน ผู้แทนฝ่ายคริสต์ชื่อเดวิด เดอซิลวา ได้ยกคำสอนเรื่องอนัตตามากล่าวโจมตี”


ความสัมพันธ์ทางศาสนาระหว่างไทยกับศรีลังกา 
             ประเทศไทยกับศรีลังการับเอาพระพุทธศาสนาเข้ามาในยุคเดียวกัน แต่มีช่วงหนึ่งพระสงฆ์ศรีลังกาถูกรุกรานจนไม่มีพระสงฆ์พอจะทำพิธีอุปสมบทได้จนมีนักปราชญ์บางท่านบอกว่าเหลือเพียงสามเณรสณังกรรูปเดียว จนต้องขอพระสงฆ์ไทยเพื่อไปทำการอุปสมบทให้กับชาวพุทธในศรีลังกาดังข้อความตอนหนึ่งว่า    “กษัตริย์ลังกาได้รับคำแนะนำจากพระสรณังกร เมื่อ พ.ศ. 2294  (ไทยนับ 2293 ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้ส่งพระสมณทูตไทยจำนวน 10 รูป มีพระอุบาลีเป็นหัวหน้า เดินทางมาประเทศลังกา มาทำการบรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรชาวลังกาถึงสามพันคน ณ เมืองแคนดี สามเณรสรณังกรซึ่งได้รับการอุปสมบทในครั้งนี้ ได้รับการสถาปนาจากกษัตริย์ลังกาให้เป็นสมเด็จพระสังฆราช จึงได้เกิดคณะสงฆ์นิกายสยามวงศ์ หรืออุบาลีวงศ์ขึ้นในลังกา ต่อมาพระอุบาลีเถระเกิดอาพาธและได้มรณภาพในลังกาในเวลาต่อมา ในสมัยเดียวกันนั้นได้มีสามเณรคณะหนึ่งเดินทางไปขอรับการอุปสมบทในประเทศพม่า แล้วกลับมาตั้งนิกาย “ อมรปุรนิกาย” ขึ้น อีกคณะหนึ่งได้เดินทางไปขออุปสมบทจากคณะสงฆ์เมืองมอญ กลับมาตั้งนิกาย “ รามัญนิกาย” ขึ้น ในสมัยนี้ได้มีนิกายเกิดขึ้นในลังกา 3 นิกาย คือ 1. นิกายสยามวงศ์ หรือลังกาวงศ์ 2. นิกายอมรปุรนิกาย 3. นิกายรามัญ นิกายทั้ง 3 นี้ ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน (พระเทพเวที,(ประยุทธ์  ปยุตฺโต, พระพุทธศาสนาในเอเซีย)  กรุงเทพฯ : ธรรมสภา 2540 หน้า  248)
             สยามวงศ์จึงเกิดขึ้นในศรีลังกา และคงอยู่เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน มีการแลกเปลี่ยนพระสงฆ์ระหว่างสองประเทศเพื่อไปศึกษาหลักธรรมเรื่อยมา จนบางสำนักถือเป็นธรรมเนียมที่จะต้องส่งพระภิกษุหรือสามเณรไปศึกษาที่ศรีลังกา ดังนั้นวัฒนธรรมประเพณีด้านพระพุทธศาสนาจึงใกล้เคียงกัน


สายสัมพันธ์ไทย-ศรีลังกา  สมัยรัตนโกสินทร์ 
             ประเทศไทยกับศรีลังกามีการติดต่อด้านกิจการพระพุทธศาสนาครั้งแรกดังหลักฐานว่า  “ได้จัดส่งพระสงฆ์ไทย 10 รูป ออกเดินทางเมื่อ พ.ศ. 2357 เมื่อไปถึงพักอยู่ที่บุปผาราม เมืองแกนดี้ พักอยู่หนึ่งปีจึงเดินทางกลับ  หน่อต้นโพธิ์ลังกา และพระพุทธรูปหลายชนิดมาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย หน่อต้นโพธิ์ปลูกที่นครศรีธรรมราช 2 ต้น  วัดมหาธาตุ 1 ต้น  วัดสระเกศ 1 ต้น และมีผู้ทูลขอไปปลูกที่กลันตัน 1 ต้น  

ปัจจุบันภาพรวมพุทธในศรีลังกาและประเทศไทย                
              พระมหามนัส กิตติสาโร ซึ่งเดินทางไปอินเดียในเดือนธันวาคม 2548 เล่าให้ฟังว่า  สภาพทั่วไปของศรีลังกา เมื่อแรกที่ไปถึงจะทราบได้ทันที่ว่าเป็นเมืองพุทธ เพราะมีสัญญลักษณ์มากมายเช่นธงฉัพพัณณรังสี  ปักเป็นธงธิวอย่างสวยงาม โบราณสถานทางพระพุทธศาสนาได้รับการอนุรักษ์ดูแลรักษาไว้อย่างดีเยี่ยม ชาวพุทธความความรพอย่างจริงใจ เวลาเดินภายในบริเวณโบราณสถานจะต้องถอดรองเท้า นอกจากนั้นยังมีการสร้างเจดีย์สถานใหม่ๆขึ้นสรุปว่าด้านโบราณสถานศรีลังกาเจริญก้าวหน้ามาก 
             ด้านวัฒนธรรมประเพณีที่เกี่ยวกับพุทธศาสนายังอนุรักษ์ไว้ ในปีหนึ่งๆจะมีประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก ลูกเล็กเด็กหนุ่มให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีสอดคล้องกับทีมีผู้ยืนยันว่าวัดเป็นศูนย์กลางของชาวพุทธว่า “ชาวพุทธศรีลังกาไม่ว่าจะอยู่ในเมืองใหญ่หรือในชนบทยังยึดถือวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนและมักจะเข้าร่วมกิจกรรมของวัดอยู่เป็นประจำ ในการไปร่วมงานตามวัดต่างๆนั้น ชาวบ้านจะมีทุกเพศทุกวัย เด็กเล็ก วัยรุ่น หนุ่มสาว ผู้ใหญ่ ผู้เฒ่า หรือแม้แต่คนพิการจะมาร่วมงานอย่างเนืองแน่น และผู้ที่เป็นเรี่ยวแรงสำคัญของวัดในการจัดงาน จัดสถานที่หรือให้บริการผู้ที่มาร่วมงาน ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กวัยรุ่นหนุ่มสาว  
             การฉลองวันวิสาขะในเพ็ญเดือนเจ็ดของทุกปี ชาวศรีลังกาจะมีงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่เพราะถือว่าเป็นวันที่พระมหินทเถระนำเอาพระพุทธศาสนามาเผยแผ่ที่ศรีลังกาเป็นครั้งแรกเรียกว่าวันโปสัน  นอกจากนั้นยังมีประเพณีที่ไทยไม่มีคือประเพณีแห่พระบรมสารีริกธาตุ ส่วนสิ่งที่ใช้เป็นตัวแทนคือธงฉัพพรรณรังสีมีเฉพาะที่ศรีลังกาเท่านั้น
 
ความคิดเห็นของนักศึกษาดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

             พระมหามนัส กิตติสาโรมองว่า“ในศรีลังการัฐให้การสนับสนุนได้มากกว่าไทย มีผู้รับผิดชอบดูแลพระพุทธศาสนาโดยตรง ผิดกับประเทศไทยต่างฝ่ายต่างทำไม่มีความเป็นเอกภาพ นอกจากนั้ พระภิกษุเป็น สส.ได้ เป็นนักการเมืองได้ ดังนั้นตามตรรกะย่อมมีสิทธิ์เป็นนายกได้”    
             ในขณะที่พระมหาบุญศรี ญาณวุฑฺโฒ มองไปที่ด้านเศรษฐกิจ“ในด้านเศรษฐกิจศรีลังกาอาจจะเจริญสู้เราไม่ได้ แต่ด้านวัฒนธรรมทางศาสนาเข้าก้าวหน้ากว่าเรามาก  ในอนาคตไม่แน่เราอาจจะมี สส. สว. เป็นพระภิกษุได้”         
             นายยงสยาม สนามพล เสนอว่า “ประเทศไทยติดขัดที่รัฐธรรมนูญ พระไม่มีสิทธิทางการเมือง เลือกตั้งไม่ได้ ไม่เหมือนลังกาพระพุทธศาสนาถูกรังแกจากระบบการเมืองและศาสนาอื่นมามาก จึงต้องมีกฎหมายคุ้มครอง  แต่พุทธศาสนายังรักษาตัวและฟื้นฟูไว้ได้  ตราบใดที่เรายังรักษาพระไตรปิฎกไว้ได้  ศาสนาก็น่าจะยังเหลืออยู่ได้ต่อไป  
             นายคงชิต  ชินสิญจน์“รัฐธรรมนูญเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่ที่ศาสนาอยู่ได้เพราะแนวคิดอนุรักษ์นิยมด้วย ในลังกาพุทธศาสนาเป็นตำนาน ยังอนุรักษ์คำสอนดั้งเดิมไว้ได้ ถ้ายังยึดแนวอนุรักษ์ไว้ได้ ศาสนาน่าจะยังอยู่ได้อีกนาน   การบิณฑบาตสามเวลา เช้าข้าว  เที่ยงเภสัช   เย็นดอกไม้  เป็นวัฒนธรรมเฉพาะที่ไม่อาจเลียนแบบได้

             พระมหาบุญไทย  ปุญญมโนเสริมว่า“ที่ภาคเหนือมีประเพณีการบิณฑบาตรดอกไม้ในวันอาสาฬหบูชา เพื่อจะได้นำดอกไม้ไปขอขมาก่อนเข้าพรรษา  และบิณฑบาตรในวันเที่ยงคืนพุธ เดือนเพ็ญ นัยว่าเป็นประเพณีบูชาพระอุปคุต”
             นายแหวนทอง  บุญคำ “เพราะได้บทเรียนจากทมิฬ ที่เบียดเบียนทำลายจนพระต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ และจัดตั้งกระทรวงพระพุทธศาสนาขึ้นมาจุดประสงค์หลักคือปกป้องพระพุทธศาสนา  ทุกนิกายมีสมเด็จพระสังฆราชของตนเอง ประเทศไทยการรุกรานจากศาสนาอื่นไม่ค่อยรุนแรง เพราะเรามีกษัตริย์เป็นศาสนูปถัมภก มีผู้ใหญ่คอยดูแลศาสนาอื่นเลยไม่ค่อยกล้า พึ่งจะมีบางศาสนาใช้การเมืองนำศาสนา ออกกฎหมายให้อำนาจแก่ศาสนาของตนเอง เมื่อมีกฎหมายรองรับย่อมจะทำงานได้สะดวก ขณะที่ชาวพุทธยังหลับไหลอยู่”
                ดร.ไพทูรย์ รื่นสัตย์ “ในด้านการเผยแผ่พระสงฆ์ศรีลังกาเรียนภาษาต่างประเทศมาก สามารถเผยแผ่ยังนานาประเทศได้มากกว่าพระไทย  ปัจจุบันนิยมใช้คำว่า  Buddhasasana  แทน   Buddhism   ที่ฝรั่งตั้งให้ ศรีลังกากล้าบัญญัติศัพท์ใหม่ๆขึ้นมา
  นายประพันธ์  สหพัฒนา   “เจริญเพราะสถาบันกษัตริย์   เสื่อมเพราะศาสนาอื่นรุกราน เช่นในเกาหลี กษัตริย์ ราชวงศ์โซซอนหันไปนับถือขงจื้อ พระพุทธศาสนาก็หมดความหมาย  พระมหายานเกาหลีเรียกร้องสิทธิได้มาก
                พระมหาธรรมรัตน์  อริยธัมโม “ปัจจุบันวัยรุ่นเกาหลีหันไปนับถือคริสต์มากขึ้น เพราะพิธีกรรมง่ายกว่า
                นายโสภณ ขำทัพ “เป็นการเลื่อนไหลทางวัฒนธรรม  ต่างชาติช่วยเหลือทมิฬในฐานะที่ทมิฬเป็นคริสเตียน
                นายสุมานพ  ศิวารัตน์ “ระบบการปกครอง ลังกาปกป้องศาสนา กระทรวงพุทธ วิทยาลัยพุทธ   เกาหลีใช้การเมืองนำหน้าศาสนา  คนจะเดินตามผู้นำ  ประเทศไทยในยุคที่จอมพลสฤษดิ์  ธนะรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี พุทธศาสนาไทยเจริญมาก  ปัจจุบันอิสลามใช้กฏหมายและการปกครองนำหน้าศาสนา 
              นายแหวนทอง  “ ความเจริญทางศาสนาจะมีมากกว่าไทย  มีอิทธิพลต่อนานาชาติได้มากกว่า พระเกาหลีไม่ค่อยมีบทบาท อนาคตศาสนาในเกาหลีจะอยู่ลำบาก
              นายพิศาล  แช่มโสภา “อนาคตไทยควรวางแผนงานและการจัดการ โดยการทำแผนแม่บททางศาสนา  เรามีทรัพย์สินในศาสนามากแต่ไม่ค่อยมีการใช้อย่างพอเพียง ควรช่วงงานด้านสาธารณสงเคราะห์ให้มากและทันการณ์   ควรทำพิธีกรรมในโบสถ์เช่นการแต่งงาน  โกนจุก
               นายดลสวัสดิ์  ชาติเมธี “ผู้ปกครองศรีลังกาเหมือนลูกกำพร้าจึงต้องเข้มแข็ง  ไทยลูกเศรษฐีอ่อนแอ กษัตริย์ลังกาที่นับถือศาสนาอื่นเบียดเบียนพุทธ  ปรักกมาหุ  เจริญมาก พระต่างประเทศไปเรียนพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก  ลังกาเสื่อมจนกระทั่งเหลือเพียงสามเณรสรณังกรรูปเดียว ต้องขอพระจากไทยไปเป็นพระอุปัชฌาย์   น่าสังเกตุว่าหลัง 2475  รัฐทำลายสถาบันศาสนามาโดยตลอด
               รศ.ผจญ  คำชูสังข์“ผู้นำมีการศึกษาและกล้านำ ปัจจัยพื้นฐานก็มีส่วนด้วย
               นายพิศาล   “มหายานและเถรวาทเริ่มมีผลกระทบ  พระมหายานขอบิณฑบาตตามชุมชนใหญ่ ๆ  มหายานเข้ามามาก และสร้างปัญหาขึ้นมากมาย  กรรมาธิการเคยถามว่า ทำไมพระจึงไม่ยอมให้คนเป็นโรคเอ็ดส์บวช เป็นการรดรอนสิทธิมนุษยชน
  นายสุมานพ เสริมว่า “มาตร 72 รัฐธรรมนูญเปิดไว้ให้”
                ผศ.ประจวบ  ประเสริฐสังข์ "ในอนาคตชาวพุทธจะรวมตัวกัน เพื่อป้องกันศาสนา แต่ตอนนี้ยังไม่มีสนามรบ คนเราเราเป็นประเภท ยาศึกเราช่วยกันรบ ยามสงบเรารบกันเอง

ความสำคัญของพุทธศาสนาต่อสังคมลังกาและไทย

1.ความสำคัญของพุทธศาสนาที่รองรับโดยกฎหมายของรัฐ
                ความสำคัญของพระพุทธศาสนาได้รับรองโดยกฎหมายของรัฐมีอยู่สูงมาก ดังปรากฏในกฎหมายสิงหลโบราณว่า “ผู้ทำลายเจดีย์และต้นโพธิ์ กับผู้ที่ปล้นสะดมทรัพย์ของศาสนามีโทษถึงตาย” กฎหมายนี้ใช้บังคับชาวศรีลังกาทุกระดับชั้น รวมทั้งคนต่างชาติด้วย และคงมีการบังคับใช้มานานแล้ว ตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าเอลระ ซึ่งเป็นชาวทมิฬ ในพุทธศตวรรษที่ 5

2.ความสำคัญต่อสังคมและวัฒนธรรม
                วิถีชีวิตของผู้คนในสังคม ระบบวรรณะในสังคมลังกาได้ถูกลดความสำคัญลง แม้ว่าวิถีชีวิตของชาวลังกาในช่วงเริ่มต้นสมัยประวัติศาสตร์ จนถึงช่วงก่อนที่พระพุทธศาสนาจะเข้ามาประดิษฐาน ระบบวรรณะได้ลดความเข้มข้นลงด้วยอิทธิพลคำสอนทางพุทธศาสนา นอกจากนั้นยังมีอิทธิพลด้านอื่น ๆ อีก เช่น ชื่อของบุคคลต่าง ๆ ได้มีการนำเอาชื่อทางพุทธศาสนามาตั้งเป็นชื่อของบุคคล นับตั้งแต่กษัตริย์ ราชวงศ์ จนถึงประชาชนทั่วไป เช่น พระเจ้าพุทธทาสะ พระเจ้าสังฆติสสะ พระเจ้าโมคคัลลานะ พระเจ้ากัสปะ พระเจ้า มหินทะ เป็นต้น จะปรากฏเห็นว่ามีชื่อของบุคคลสำคัญทางพุทธศาสนา ปรากฏเป็นพระนามของกษัตริย์ลังกาหลายพระองค์ การกำหนดเอาวันธรรมสวนะเป็นวันหยุดราชการ งานทุกชนิดต้องหยุดในวันพระ เมื่อถึงวันพระชาวสิงหลจะถืออุโบสถศีล และประกอบศาสนกิจต่าง ๆ พระเจ้าแผ่นดินได้ออกกฎหมาย “มาฆาตะ” คือห้ามฆ่าสัตว์และเบียดเบียนชีวิตสัตว์ จนอาชีพนายพรานได้หายไป นอกจากนั้นรัฐบาลศรีลังกาได้ถือเอาพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ

3.อิทธิพลทางด้านการเมืองการปกครอง
                ในด้านการเมืองนั้น พระภิกษุมีบทบาทอย่างมาก พระภิกษุมีความผูกพันกับประชาชนและชนชั้นปกครองอย่างใกล้ชิดจึงมีบทบาทหลายประการได้แก่
                1) บทบาททางการเมือง พระภิกษุมีความใกล้ชิดและมีอิทธิพลต่อประชาชนส่วนใหญ่มีบทบาทในการไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทระหว่างผู้นำทางการเมือง ดังกรณีพระโคธกัฑตะ ติสสะเถระ สามารถเจรจายุติสงครามการเมืองยืดเยื้อ ระหว่างพระเจ้าวัฎฎคามนีอภัยกับแม่ทัพของพระองค์ให้สงบลงได้
                2) บทบาทในการเป็นที่ปรึกษาของกษัตริย์ เนื่องจากพระภิกษุได้มีโอกาสถวายการอบรมสั่งสอนแก่บรรดาเจ้าชายต่าง ๆ เมื่อเจ้าชายเหล่านี้ขึ้นครองราชย์ พระภิกษุก็จะกลายเป็นราชครู มีบทบาทต่อการกถวายคำแนะนำแก่กษัตริย์ ดังกรณีพระสังฆมิตตเถระเป็นราชครูของพระเจ้ามหาเสนะ มีอิทธิพลต่อพระเจ้ามหาเสนะอย่างมาก พระองค์จะทรงปฏิบัติตามคำแนะนำของพระสังฆมิตตะเกือบทุกเรื่องโดยเฉพาะการรับสั่งให้ทำลายคณะสงฆ์ฝ่ายมหาวิหาร
                3) บทบาทในการเลือกแต่งตั้งพระมหากษัตริย์ เมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ 5 พระเจ้าสัทธาติสสะสวรรคต คณะเสนาบดีและคณะสงฆ์ประชุมกัน ณ ถูปาราม ได้เลือกเจ้าชายถุลถนะ ขึ้นครองราช ตามหลักการแล้วก็น่าจะเป็นเจ้าชายลันชติสสะ พระเชษฐา แต่คณะสงฆ์ไม่สนับสนุน
                4) บทบาททางการศึกษา ตั้งแต่พุทธศาสนาเข้ามาประดิษฐานในลังกา พระภิกษุสงฆ์ได้เข้ามามีบทบาทต่อการทำหน้าที่เป็นครูอบรมสั่งสอนประชาชน แทนพวกพราหมณ์ ที่เคยคำหน้าที่นี้มาก่อนมีวัดเป็นศูนย์กลางในการการศึกษาอบรมศีลธรรมจรรยาแก่กุลบุตรกุลธิดา
                5. บทบาททางวรรณกรรม พระสงฆ์มีบทบาทต่อด้านวรรณกรรม พระสงฆ์มีบทบาทต่อการร้อยกรองวรรณกรรม ได้ผลิตวรรณกรรมจำนวนมาก โดยเฉพาะคัมภีร์มหาวงศ์ และทีปวงศ์ ซึ่งเป็นพงศาวดารทางประวัติศาสตร์ของลังกา
                6. บทบาททางศิลปกรรม ศาสนสถาน และศาสนวัตถุ เป็นบ่อเกิดแห่งศิลปะอันทรงคุณค่าของลังกา ศิลปะอันงดงามเกิดจากความศรัทธาเลื่อมใสในพุทธศาสนา แล้วบรรจงสร้างอย่างประณีต พุทธศาสนิกชนลาวลังกาถือว่า การก่อสร้างวัตถุสถานทางพุทธศาสนาได้บุญอานิสงส์มาก จึงได้สร้างศาสนวัตถุมากมาย นอกจากเป็นงานของฆราวาสแล้ว พระภิกษุสงฆ์เองก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ศิลปกรรมแพร่หลาย ด้วยพระสงฆ์ก็เป็นผู้ที่มีฝีมือในการสร้างสรรค์งานศิลปะ 

             หลายศตวรรษต่อมา (พ.ศ. 953) พระพุทธโฆษาเถระได้เดินทางจากอินเดียมายังศรีลังกา ณ ที่นี้ท่านได้รจนา “วิสุทธิมรรค” (หนทางแห่งความบริสุทธิ์) ขึ้น ท่านได้ประมวลและเรียบเรียงอรรถกถาทั้งสิ้น ที่ท่านพบในศรีลังกา และได้แปลอรรถกถาเหล่านั้น จากภาษาสิงหฬเป็นภาษาบาลี คำแปลอรรถกถาของพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ส่วนใหญ่เป็นผลงาน ของท่านพระพุทธโฆษาเถระ อรรถสาลินี (คำอธิบายขยายความ) เป็นอรรถกถาของธรรมสังคณี คัมภีร์แรกของพระอภิธรรม ศรีลังกาซึ่งเป็นแหล่งที่ได้อนุรักษ์พระไตรปิฎก และอรรถกถาทั้งหลายไว้ เป็นประเทศที่น่าเร้าใจให้ไปเยือน เพื่อจะได้ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ความจริงที่ได้เคยมีพระอรหันต์จำนวนมากมาย อยู่ในประเทศนี้ เป็นเครื่องพิสูจน์ ว่าได้มีการปฏิบัติธรรมกันจริง ๆ ในชีวิตประจำวัน
             แม้ว่าศรีลังกาจะได้ผ่านระยะเวลาที่พระพุทธศาสนาเสื่อมโทรมลงหลายครั้งหลายครา และถึงแม้จะได้ถูกกดขี่ข่มเหง อีกด้วย ก็ตาม ชาวสิงหลในทุกวันนี้ ก็ยังมองเห็นความเกี่ยวข้องของพระธรรมในชีวิตประจำวันของเขา ชาวสิงหลยังคงธำรงรักษาขนบธรรมเนียม อันดีงาม ซึ่งได้สืบทอดมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาลไว้ เช่น การถวายทานแด่พระภิกษุ การประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในวันอุโบสถ (วันพระกำหนดเอาในวันขึ้น 15 ค่ำ แรม 15 ค่ำ และบางครั้งในวันขึ้นและแรม 8 ค่ำด้วย) และพิธีกรรมอย่างอื่นอีกมาก ในปัจจุบันนี้ ได้มีหนังสือธรรมมากมาย ซึ่งเขียนโดยพระภิกษุและคฤหัสถ์ผู้ทรงความรู้และยังได้จัดพิมพ์สารานุกรมพุทธศาสนาขึ้นอีกด้วย 
 

พระพุทธศาสนาในเกาหลีใต้ 
                เดิมเกาหลีใต้เป็นประเทศที่เคยนับถือพุทธศาสนา ตอนนี้มีคนจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่ง ของประเทศประกาศว่า ตนเองไม่นับถือศาสนาอะไรเลย จึงเหลือพวกที่มีศาสนาเพียง 54% ของประชากรทั้งหมด ในบรรดาผู้คนที่ยังมีศาสนานี่แหละครับ 54% บอกว่าตัวเองเป็นคริสต์ศาสนิกชน และยอมรับว่าเป็นชาวพุทธ 46%  
             เกาหลีใต้มีเมืองที่มีพระพุทธรูปสวยงามที่เมืองเคียงจู ซึ่งเป็นเมือง "มรดกโลก" ของเกาหลีใต้ ที่นี่มีถ้ำซอกคูลัมซึ่งมีพระพุทธรูปที่สร้างตั้งแต่สมัยอาณาจักรซิลลา เป็นหินแกรนิตและมีวัดพุลกุกซาที่อยู่บนภูเขาสูง ราตรีนี้ผมยังพักอยู่ ที่โรงแรมในเมืองเคียงจู มองออกไปนอกหน้าต่าง เห็นดาวพร่างบนฟากฟ้า เพ่งดาราเต็มพรืดในเมืองหลวงเก่าแก่ของอาณาจักรที่เคยรุ่งเรืองทั้งทางด้าน การปกครองและทางศาสนาพุทธเมื่อสองพันปีก่อน ก็ย้อนกลับมาสะท้อนใจหลายเรื่องครับ โดยเฉพาะเรื่องการจัดการ "มรดกโลก" ของเรา  
             เมืองมรดกโลกเคียงจูของเกาหลีนี่เน้นการอนุรักษ์มาก ไม่มีการกระทำย่ำยี ไม่ว่าจะย่ำยีโบราณสถาน วัฒนธรรม หรือธรรมชาติ แม้แต่ ถังขยะก็ยังเป็นถังแบบโอ่งดินเพื่อให้สอดรับกับความเป็นนครโบราณ บ้านเกือบทุกหลังของเมืองที่มีประชากร 350,000 คนแห่งนี้ จะปลูกเป็นรูปทรงเกาหลี แม้แต่โบสถ์ของศาสนาคริสต์ก็ยังมีสร้างด้วยสถาปัตยกรรมเกาหลี เพียงแต่มีไม้กางเขนปักเด่นเป็นสง่าเน้นให้เห็นความเป็นคริสต์เพียงเท่านั้น 
             เหตุผลหนึ่งที่คนรุ่นใหม่หันไปนับถือคริสต์ศาสนานิติภูมิ นวรัตน์อ้างว่า “ไปนมัสการพระพุทธรูปในถ้ำซอกคูลัมและไปที่วัดพุลกุกซา ขึ้นไปถึงยอดเขาสูงแล้วก็จึงถึงได้เข้าใจว่าทำไมศาสนาพุทธของเกาหลีใต้ ในปัจจุบันจึงมีผู้คนนับถือน้อยลงในอัตราที่ รวดเร็วอย่างน่าใจหาย แม้แต่ประธานาธิบดี 2 ท่านสุดท้ายนี่ก็หันไปนับถือศาสนาคริสต์    เดิมเปลี่ยนไปเฉพาะพวกวัยรุ่น ตอนนี้ไม่ว่าวัยรุ่นหรือไม่ ก็ไปเข้าเป็นคริสต์ศาสนิกชนกันขนานใหญ่ หนึ่งในหลายสาเหตุ ก็อาจจะเป็นเพราะศาสนสถานของพุทธในเกาหลีใต้มักจะตั้งอยู่บนภูเขาสูง การเดินทางเพื่อไปปฏิบัติศาสนกิจทำได้ลำบาก ส่วนโบสถ์คริสต์ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในที่ราบ ไปปฏิบัติศาสนกิจได้ง่าย ตามเมืองใหญ่มองไปทางไหนเห็นแต่กางเขน อยู่บนหลังคาโบสถ์ยิ่งเมืองสำคัญอย่างกรุงโซล ปูซาน แตจอน แตกู อินชอน กวางจู ฯลฯ คนเข้าโปรเตสแตนต์กันมากกว่าคาทอลิกซะด้วยซ้ำ 


             การนับถือศาสนาคริสต์นั้นมิใช่เพียงแค่ครรุ่รใหม่เท่านั้น แม้แต่ผู้นประเทศก็เป็นคริสเตียนนิติภูมิเขียนไว้ว่า “ประธานาธิบดีคนที่แล้ว นายคิม แด-จุง และประธานาธิบดีคนปัจจุบัน นายโน มู-เฮียน ท่านทั้งสองก็นับถือคริสต์ ตอนที่นายคิม แด-จุง ไปเยือนเกาหลีเหนือ ท่านก็ยังได้แนะนำประธานาธิบดี คิม จอง-อิล ให้เชิญพระสันตะปาปามาเยือนเกาหลีเหนือ เพื่อขอให้พระองค์เข้ามาช่วยให้คนมีศาสนา พร้อมทั้งยังมีการเผยแพร่ข้อมูลอีกว่า ขณะนี้ เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการมีจำนวนชาวคริสต์มากเป็นอันดับ 2 ของทวีปเอเชีย จะเป็นรองก็เพียงแต่ฟิลิปปินส์เท่านั้น
             การแผ่ศาสนานั้นนักบวชมีบทบาทสำคัญนิติภูมิยืนยันไว้ว่า “บาทหลวงรูปหนึ่งซึ่งเทศน์ถูกใจคนเกาหลีมาก ชื่อว่าสาธุคุณซัน เมียง-มูน ท่านเคยจัดพิธีแต่งงานหมู่ที่มีคู่สมรสเยอะมากจริงๆ มากขนาดไหนผู้อ่านท่านลองหลับตาจินตนาการดูเถิด สนามโอลิมปิกสเตเดียมในกรุงโซลวันนั้นเต็มไปด้วยคู่แต่งงาน ไม่ว่าบนอัฒจันทร์หรือในสนามข้างล่าง ถึงขนาดกินเนสบุ๊คต้องบันทึกไว้ว่าเป็นการแต่งงานที่มีคู่สมรสมากที่สุดในโลก ผู้อ่านท่านครับ คนเกาหลีนี่ให้ความสำคัญกับพิธีแต่งงานมาก ถ้าเป็นเกาหลีพุทธ ก็จะแต่งงานตามแบบเกาหลีดั้งเดิมครั้งหนึ่งก่อน จากนั้นก็จะไปแต่งแบบคริสต์อีกทีหนึ่ง ประสงค์ก็คือเพื่อที่จะได้ ถ่ายรูปเจ้าสาวในชุดขาว เจ้าบ่าวใส่ทักซิโดโก้หรู ถือว่าเป็นค่านิยม พิธีแต่งงานแบบคริสต์เต็มไปด้วยเสียงดนตรี มีเทศน์ที่สั่งสอนประทับใจ พร้อมไปด้วยหลักธรรมที่เข้าใจได้ง่ายกว่า
             ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วกระแสธารอารยธรรมไหลบ่าอย่างรวดเร็ว เกาหลีใต้ส่งออกวัฒนธรรมผ่านละครทีวีภาพยนตร์ดังที่นิติภูมิเขียนไว้ว่า “วัยรุ่นไทยในขณะนี้ชื่นชมดาราเกาหลีใต้ ผู้สร้างหนังสร้างละครสมัยนี้ก็เอาใจตลาด แต่ละฉากแต่งงาน ผู้สร้างก็มักจะให้มีการแต่งงานแบบคริสต์ จนวัยรุ่นที่ดูภาพยนตร์มีความรู้สึกว่า ความรักและการได้ แต่งงานมีครอบครัวนั้น มีส่วนเกี่ยวกันผูกพันกับโบสถ์ หนังเรื่องไหนจัดฉาก ให้นางเอกพระเอกแต่งงานแบบดั้งเดิมโบราณ หนังเรื่องนั้นเชยเป็นบ้า แม้แต่เศร้าโศกมีใครลาโลก ละครส่วนใหญ่ไม่ว่าของเกาหลี หรือของไทย ก็ยังให้พระเอก นางเอกไปเคารพสุสานแบบคริสต์ ผม เข้าใจเอาเองว่า พวกผู้สร้างหนังอาจจะได้รับอิทธิพลจากหนังตะวันตกนั่นเองครับ   
             วัยรุ่นเอเชียของเราในระยะหลังๆนิยมแขวนไม้กางเขนตามดาราตะวันตก ตอนแรกๆก็ไม่ได้คิดอะไร แต่พอบางห้วงถึงช่วงที่มีความทุกข์ร้อน ก็เลยสวดอ้อนวอนร้องขอต่อพระผู้ เป็นเจ้า สวดแล้วก็บังเกิดศรัทธา มีกำลังใจสู้โลกต่อ ทำให้ กลายเป็นคริสต์ศาสนิกชนทีละเล็กละน้อยโดยไม่รู้สึกตัว ในที่สุดก็กลายเป็นผู้ศรัทธาในศาสนาคริสต์ และก็ใช้ศาสนานี้นำชีวิตให้ดำเนินต่อไปได้อย่างมีความสุข คนจำนวนไม่น้อยก็เชื่อว่าที่เกาหลีใต้ผงาด จากประเทศยากจนมาเจริญรุ่งเรืองในวันนี้ได้ ส่วนหนึ่งมาจากความศรัทธาในศาสนาคริสต์ 
             พระพุทธศาสนาในเกาหลีมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน  มีอิทธิพลต่อเกาหลีทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม และศิลปะ ปัจจุบันมีวัดมากกว่า 10000 วัด พระ 20000 รูป วัดจำนวน 900 แห่งมีอายุเก่าเกิน 50 ปี  

             ในด้านความร่วมมือด้านการศึกษามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยรับวิทยาลัยพุทธดองกุ๊กเพื่อการเผยแผ่แห่งเมืองพูชานเข้าเป็นวิทยาลัยสมทบของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยโดยมีเหตุผลประกอบว่า “ถ้านำไปสมทบกับมหาวิทยาลัยบาลีพระพุทธศาสนาแห่งประเทศศรีลังกานั้นจะติดต่อสื่อสารกันก็ยากและใช้เวลานานมาก พวกเขาต้องการหลักสูตรเป็นภาษาเกาหลี สอนด้วยภาษาของพวกเขาเอง มิใช่สอนผ่านภาษาอังกฤษอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้  นักศึกษาหลายคนมีอายุแล้ว มาเริ่มเรียนอังกฤษอีกสู้ไม่ไหว หากจะเปิดสอนเป็นภาษาเกาหลี  ทางมหาวิทยาลัยบาลีพระพุทธศาสนาแห่งประเทศศรีลังกาก็ยังไม่พร้อมจะลงมาช่วยเหลืออย่างเต็มที่ พระมหาเถระชาวศรีลังกาซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกับท่านเจ้าคุณพระราชรัตนโมลี (นคร  เขมปาลี) จึงแนะนำพวกเขาให้มาขอขึ้นกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งเขาอาจเห็นศักยภาพความพร้อมหลายๆด้านของพวกเราก็ได้ เพราะทั้งเจ้าหน้าที่ คณาจารย์ และนักศึกษาของเขา ได้เดินทางมาเยี่ยมเยียนและดูกิจการของทางมหาวิทยาลัยเราหลายครั้งแล้ว”   
             ไม่เคยมีประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ทางศาสนาระหว่างไทยและเกาหลีใต้มาก่อน ครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรก  ในประเทศไทยยังมีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ในอนาคตน่าจะเปิดวิทยาลัยสมทบในประเทศต่างๆได้อีกมากเพราะพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเปิดโอกาสไว้ในมาตรา 10  
             ส่วนในศรีลังกาการสานสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องยาวนาน ยิ่งพระพุทธรูปเป็นที่ต้องการของศรีลังกา พุทธศาสนิกชาวไทยจึงส่งออกศิลปพระพุทธรูปไปยังลังกาเป็นจำนวนมากดังที่เสฐียรพงษ์เขียนไว้ว่า “ในปีพ.ศ. 2544 ไปศรีลังกาครั้งนี้นำพระพุทธรูปไปถวายจำนวน 29 รูป จากนั้นนำไปถวายอีก 101 องค์ ในปี 2547 นำพระพุทธรูปสุโขทัยปางสมาธิไปถวาย 14 องค์      


             น่าสังเกตว่าในปัจจุบันทั้งไทยและศรีลังกายังไม่มีนโยบายแลกเปลี่ยนนักศึกษากันเลยทั้งๆ ที่ทั้งสองประเทศมีพระในนิกายเดียวกัน มีแต่พระศรีลังกามาศึกษาที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง แต่เป็นการใช้ทุนส่วนตัว พระไทยที่ไปศึกษาที่ศรีลังกาก็ใช้ทุนส่วนตัว ถ้ามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มีนโยบายแลกเปลี่ยนนักศึกษากับศรีลังกาหรือแม้แต่เกาหลีใต้ ความสัมพันธ์ทางพระพุทธศาสนาน่าจะก้าวหน้าขึ้น
             ศรีลังกานับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทเหมือนไทย ส่วนเกาหลีใต้นับถือฝ่ายมหายาน ในอดีตทั้งสองประเทศเคยปกครองด้วยระบบกษัตริย์เหมือนกัน แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นระบบสาธรณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขสูงสุดบริหารประเทศ แม้ว่าระบบการปกครองจะเปลี่ยนไป แต่พระพุทธศาสนาระบุไว้ในรัฐธรรมนูญของทั้งสองประเทศว่าเป็นศาสนาประจำชาติ ส่วนไทยไม่ได้ระบุไว้ หรือว่าเพราะคำว่า “ศาสนาประจำชาติ” ทำให้ทั้งสองประเทศเปลี่ยนไป ในขณะที่ไทยพระพุทธศาสนาแม้จะไม่แสดงบทบาทเด่นชัดนัก แต่ทว่าแทรกซึมอยู่ในทุกระบบ เพราะหลักธรรมนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมไทยผูกพันกันมานานจนคุ้นเคย  แม้จะรับเอาวัฒนธรรมอื่น แต่ก็ยังรักษาฐานรากเดิมคือพระพุทธศาสนาไว้ได้ พระพุทธศาสนาในประเทศไทยจึงค่อยเป็นค่อยไป มีปัญหาภายในก็แก้ไข เมื่อยังไม่มีก็สงบนิ่ง จนบางครั้งคนไทยลืมเลือนไปแล้วว่า เรายังเป็นประเทศพระพุทธศาสนาอยู่หรือไม่     

 
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
จดบันทึก
แก้ไขปรับปรุงใหม่ 20/08/53

บรรณานุกรม


รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 (พิมพ์ครั้งที่ 10),กรุงเทพฯ: สกายบุกส์, 2548.
http://www.geocities.com/sakyaputto/mbuddhism1.htm)
เสฐียรพงษ์  วรรณปก.ไปสืบพระศาสนาที่ศรีลังกา.(พิมพ์ครั้งที่ 2)กรุงเทพ ฯ: สำนักพิมพ์น้ำฝนไอเดีย,2549.
นนท์   ธรรมสถิตย., พระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ไทย.กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์กิติชัยสาส์น, 2532.
 ฐากูร   พานิช, ไทย-ศรีลังกา  กัลยาณมิตร: สัมพันธ์ไมตรีแน่นแฟ้นทางพุทธศาสนา,กรุงเทพฯ:อมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง จำกัด,2545.               
Nina Van Gorkom  (พ.อ. ดร. ชินวุธ สุนทรสีมะ แปล).ธรรมจาริกในศรีลังกา มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา  <http://members.tripod.com/buddhiststudy/srilanka.htm>
นิติภูมิ นวรัตน์ เปิดฟ้าเกาหลีใต้: ศาสนาของเกาหลี  หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 

                                                                              

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก