ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

               ปัจจุบันเรากำลังอยู่ในโลกแห่งเทคโนโลยี ที่มีกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ผ่านกาลเวลามายาวนาน มีหลักธรรมคำสอนที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับการเปลี่ยนแปลงของสังคม เมื่อโลกใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ พระพุทธศาสนาก็สามารถประยุกต์ใช้ให้เท่าทันกับเทคโนโลยีได้อย่างเช่นสังคมยูบิควิตัสนำมารวมกับพระพุทธศาสนาจึงเกิดศัพท์ใหม่ว่า "พุทธยูบิควิตัส" ว่าด้วยพระพุทธศาสนาในยุคเทคโนโลยีไร้สาย

 สังคมยูบิควิตัส  

          เมื่อเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์กับเทคโนโลยีการสื่อสารมาบรรจบกันจนทำให้เกิดเทคโนโลยีสารสนเทศขึ้น ทำให้การติดต่อสื่อสารระหว่างชาวโลกมีความสะดวกรวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะการติดต่อผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตซึ่งในอดีตต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ในที่ทำงานเท่านั้น ต่อมาได้วิวัฒนาการมาเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กสามารถใช้ที่บ้านและพัฒนาเป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กสามารถพกพาติดตัวไปได้สะดวก ในอนาคตอันใกล้เครื่องคอมพิวเตอร์จะมีขนาดเล็กสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลา ในยุคนี้กลายเป็นสังคมใหม่ที่มีศัพท์เรียกเฉพาะว่า “สังคมยูบิควิตัส” (Ubiquitous society) คือทุกคนสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้โดยไร้ขีดจำกัด ไม่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของกาลเวลาอีกต่อไป
          ยูบิควิตัสเทคโนโลยี (Ubiquitous technology) สังคมยูบิควิตัส (Ubiquitous society) หรือ ยูบิคอมบ์ (Ubicomp) ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมของการสื่อสารใหม่ และเป็นแนวโน้มของสังคมสารสนเทศ ยูบิควิตัส เป็นภาษาลาติน มีความหมายว่า อยู่ในทุกแห่ง หรือ มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง มาร์ค ไวเซอร์ (Mark Weiser) แห่งศูนย์วิจัย Palo Alto ของบริษัท Xerox ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ให้คำนิยาม “ยูบิควิตัสคอมพิวติง” ไว้ว่าโลกที่สามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์ได้ทุกหนทุกแห่ง  ทุกที่ที่คนไปจะมีสภาพแวดล้อมที่สามารถใช้คอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ ณ ที่นั้นได้เหมือนกับเป็นคอมพิวเตอร์ของตนเอง (ฮิเดกะ โซกิ,ยูบิควิตัสคีย์เวิร์ดของโลกIT ในอนาคต, แปลโดย ดร.อิทธิ ฤทธาภรณ์ และคณะ(กรุงเทพฯ:สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี(ไทย-ญี่ปุ่น),2545), หน้า 5.)  การใช้คอมพิวเตอร์ได้ทุกหนทุกแห่งในปัจจุบันกำลังจะเป็นสภาพที่กำลังเกิดขึ้น เพราะนอกจากจะเป็นคอมพิวเตอร์ที่ทำงาน ที่บ้านแล้ว ยังมีชิปคอมพิวเตอร์ในเครื่องอุปกรณ์ต่างๆเช่นโทรศัพท์มือถือซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาไปมากพกพาได้สะดวก



ภาพสังคมยูบิควิตัสในญี่ปุ่น

  เทคโนโลยีในสังคมยูบิควิตัส

           เทคโนโลยีที่ทำให้สังคมยูบิควิตัสเป็นจริงมี 4 กลุ่มคือ เทคโนโลยีพื้นฐาน เทคโนโลยีฮาร์ดแวร์ เทคโนโลยีการเข้าถึง เทคโนโลยีด้านการประยุกต์ (ฮิเดกะ โซกิ,ยูบิควิตัสคีย์เวิร์ดของโลก IT ในอนาคต,แปลโดย ดร.อิทธิ ฤทธาภรณ์ และคณะ(กรุงเทพฯ:สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี(ไทย-ญี่ปุ่น),2545), หน้า 156.) สรุปได้ดังนี้
             1.เทคโนโลยีพื้นฐาน ในสังคมยูบิควิตัส การที่จะสามารถใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ไหนก็ได้เสมือนหนึ่งเป็นเครื่องส่วนตัวของเราได้นั้น มีความจำเป็นต้องพกพาสิ่งที่สามารถยืนยันตันตนของเราอยู่ด้วย สิ่งนั้นคือรหัสผ่านของตนเองนั่นเอง เราสามารถเข้าสู่ระบบเครือข่ายได้ทุกแห่งเพียงแต่ป้อนรหัสผ่านของเราเข้าไป ซึ่งจะไม่มีทางตรงกับคนอื่นนั่นคือเทคโนโลยีพื้นฐานสิ่งแรกในสังคมยูบิควิตัส เรียกเทคโนโลยีพื้นฐานนี้ว่าเทคโนโลยีตรวจสอบบุคคล
              2.เทคโนโลยีฮาร์ดแวร์ เทคโนโลยีที่สำคัญอย่างแรกคือการทำให้ชิปมีขนาดเล็ก ประหยัดพลังงาน มีแหล่งกำเนิดไฟฟ้าเพียงพอ  เทคโนโลยีแสดงผลและป้อนข้อมูล ทั้งหมดนั้นคือเทคโนโลยีฮาร์แวร์ที่จำเป็นในสังคมยูบิควิตัส
            3.เทคโนโลยีการเข้าถึง  การเข้าถึงเทคโนโลยีได้ทุกที่ทุกเวลาจะต้องมีเทคโนโลยีเครือข่ายซึ่งมีทั้งแบบมีสายและไร้สาย แกนหลักที่ทำให้เกิดสังคมยูบิควิตัสคือบรอดแบรนด์ซึ่งเป็นอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ทำให้ทุกคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ทุกหนทุกแห่ง นอกจากนั้นยังมีเทคโนโลยีแอพพลิเคชั่นเช่น WWW, Java,WAP,XML เป็นต้น และเทคโนโลยีการเข้าถึงที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือโมบายส์เทคโนโลยี อุปกรณ์โมบายส์คือคอมพิวเตอร์ที่เบาและสามารถพกพาไปได้ทุกที่ ทำให้เรามีคอมพิวเตอร์ที่พกพาไปได้ทุกที่ ในปัจจุบันเราใช้คอมพิวเตอร์ผ่านมือถือสามารถเข้าสู่เว็บไซต์ได้ทุกที่ที่มีมือถือ
          4.เทคโนโลยีการประยุกต์ใช้งาน เป็นเทคโนโลยีที่สามารถให้บริการแก่ผู้ใช้ได้จริงๆ ทำให้ผู้ใช้รู้สึกอย่างแท้จริงถึงคุณประโยชน์ของคอมพิวเตอร์   



 
ดร.ทั้งสองท่านกำลังปล่อยโคมไฟขึ้นฟ้าทักทายเทวดา

          เทคโนโลยีทั้งสี่ประการมาบรรจบกันในสังคมใดสังคมนั้นก็กลายเป็นสังคมยูบิควิตัสได้โดยไม่ยาก ในส่วนของพระพุทธศาสนาเป็นส่วนของเนื้อหาที่สามารถเผยแผ่ได้ในสังคมโดยการใช้เทคโนโลยีทั้งสี่ประเภท โดยที่พระสงฆ์ผู้ทำการเผยแผ่ไม่ต้องสร้างเครื่องมือใหม่ขึ้นมาเลย เพราะมีเทคโนโลยีที่ตอบสนองอยู่แล้ว เพียงแต่ออกแบบเนื้อหาจากหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาให้เหมาะสมกับยุคสมัย จากนั้นจึงนำเผยแผ่โดยอาศัยเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์และเทคโนโลยีการเข้าถึง สิ่งที่บรรจุในชิปคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กบรรจุข้อมูลได้มากพอนั้น อาจเป็นพระไตรปิฎกทั้งฉบับทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เมื่อมีข้อสงสัยในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาก็สามารถใช้โทรศัพท์มือถือเปิดดูทางเว็บไซต์ทางพระพุทธศาสนาซึ่งในอนาคตควรมีหลายภาษาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้อย่างทั่วถึง หากยังคิดว่าพระไตรปิฎกยังเป็นหลักคำสอนที่ยากแก่การทำความเข้าใจ องค์กรสงฆ์หรือคณะสงฆ์ก็ต้องหาทางปรับปรุงเปลี่ยนแปลงภาษาให้ทันสมัยเหมาะแก่ยุคสมัยซึ่งการปรับปรุงมิได้ทำให้หลักธรรมดั้งเดิมมีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ภาษาที่เหมาะกับคนในสังคมยุบิควิตัสควรเป็นข้อความที่สั้น กระชับ ง่ายเข้าใจได้ทันที ภาษาพระพุทธศาสนาสามารถทำให้ง่ายได้เช่น “ทำดีไม่ต้องเดี๋ยว” ซึ่งก็มาจากภาษาบาลีในภัทเทกรัตตสูตร (ม.อุปริ. 14/527/348.)  ว่า  “อชฺเชว กิจฺจมาตปฺปํ” ภาษาแปลตามพระไตรปิฎกฉบับภาไทยแปลว่า “พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ” ซึ่งถูกต้องตามลักษณะการถอดความจากภาษาบาลีเป็นภาษาไทย แต่อาจจะไม่เหมาะกับคนในยุคยูบิควิตัส แต่ถ้านำมาปรับปรุงแปลใหม่จะทำให้ติดปากคนได้ง่าย การประยุกต์มิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงมิใช่การทำให้คำสอนเป็นสัทธรรมปฎิรูปแต่ประการใด เพียงแต่ทำให้เหมาะสมกับยุคสมัยเท่านั้น
          เมื่อโลกเจริญไปด้วยพลังขับเคลื่อนของเทคโนโลยี หากพระพุทธศาสนาไม่ประยุกต์หลักธรรมให้เหมาะสมกับยุคสมัยแล้ว ในอนาคตจะหาคนสนใจศึกษาจนเข้าใจหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาน้อยยิ่งขึ้น แม้ในประเทศที่ได้ชื่อว่าพัฒนาแล้วก็ยังประสบปัญหาการอ่านหนังสือของเด็กดังที่หนังสือนิวยอร์คไทม์ ฉบับวันที่ 1 กันยายน 2548 บ็อบ เฮอร์เบร์ต ได้เขียนบทความลงตีพิมพ์แสดงถึงความสนใจของเด็กๆในสหรัฐอเมริกามีข้อความตอนหนึ่งว่า “ บ้านเรือนชาวอเมริกันนับวันจะไม่มีหนังสือและสิ่งพิมพ์หลงเหลืออยู่แล้ว เด็กหันหน้าเข้าหาความบันเทิงจากโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ และเกมส์อิเล็คทรินิกส์กันหมด ดูเหมือนเทคโนโลยีที่สร้างความสุขแบบฉับพลัน(Instant Gratification Technology)ได้เข้ามาทำหน้าที่แทนการอ่านไปเสียแล้ว (บ็อบ เฮอร์เบร์ต,เด็กสหรัฐอ่านหนังสือน้อยลง,นิวยอร์คไทม์, (ฉบับวันที่ 1 กันยายน 2548). 



ภาพบรรยากาศในการสัมมนา

               ยูบิควิตัส (Ubiquitous) หรือยูบิควิตัส คอมพิวติ้ง (Ubiquitous Computing) ยังหมายถึงการเชื่อมต่อไร้สายในอุดมคติ ที่การมีคอมพิวเตอร์อยู่ทุกหนทุกแห่ง ทั้งในบ้าน ที่ทำงาน โรงเรียน ตามถนนหนทาง ผู้คนจะสามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้จากทุกสถานที่ โดยเชื่อมต่อถึงกันด้วยเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ตามกระแสแห่งการพัฒนากล่าวได้ว่าโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคยูบิควิตัส ที่เป็นเหมือนคลื่นเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ลูกที่ 3 ที่กำลังถาโถมเข้าใส่มวลมนุษยชาติ  ปรากฎการณ์ยูบิควิตัสจะเข้ามาช่วยให้มนุษย์ มีความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิต ด้วยโครงข่ายของการสื่อสาร ได้แก่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ และโทรศัพท์มือถือ ที่จะเป็นกุญแจ และประตูที่จะพาผู้ใช้งานไปสู่ความสะดวกสบายโดยไม่ถูกจำกัดด้วยกาลเวลาและสถานที่ อัลวิน ทอฟเลอร์ได้อธิบายพื้นที่บนอินเทอร์เน็ตว่าเป็นดินแดนที่ไม่มีพื้นที่จริงในโลกกายภาพอาจเรียกว่าเป็น อพื้นที่ (untime) (อัลวิน และ ไฮดี ทอฟเลอร์, ความมั่งคั่งปฏิวัติ,แปลโดยสฤณี อาชวานันทกุล, (กรุงเทพฯ:มติชน,2552),หน้า  129.) เพราะอินเทอร์เน็ตเป็นเพียงภาพเสมือนจริงมิใช่ภาพจริง  โดยสรุปลักษณะสำคัญของสังคมยูบิควิตัสคือ 
          1. มีการเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์ตลอดเวลา ถ้ามีแต่เครื่องคอมพิวเตอร์อย่างเดียวยังมิใช่สังคมยูบิควิตัส คอมพิวเตอร์จะต้องเชื่อมต่อกับเน็ตเวิร์กจึงจะเป็นยูบิควิตัสคอมพิวติง 
          2. คอมพิวเตอร์จะแทรกซึมเข้าไปอยู่ในเครื่องใช้ต่างๆ โดยที่ผู้ใช้ไม่รู้สึกตัวว่า กำลังใช้งานคอมพิวเตอร์อยู่  สังคมยูบิควิตัสจะต้องเป็นสิ่งที่คอมพิวเตอร์มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า จะต้องมีเป้าหมายให้คอมพิวเตอร์เป็นเหมือนกับกระดาษ ตัวอักษรที่อยู่บนกระดาษ เป็นอินเตอร์เฟสที่คนสามารถใช้ได้ง่าย คอมพิวเตอร์กลายเป็นสิ่งแวดล้อมมิใช่เป็นเครื่องมืออีกต่อไป
          3. การให้บริการที่สามารถเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ทั้งสถานที่อุปกรณ์ และปัจจัยทางกายภาพอื่นๆ ในโลกของยูบิควิตัสคอมพิวติง บริการที่คอมพิวเตอร์มีให้เลือกต้องเปลี่ยนไปตามผู้ใช้หรือสถานการณ์ของผู้ใช้ (ฮิเดกะ โซกิ,ยูบิควิตัสคีย์เวิร์ดของโลกIT ในอนาคต, แปลโดย ดร.อิทธิ ฤทธาภรณ์ และคณะ(กรุงเทพฯ:สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี(ไทย-ญี่ปุ่น),2545), หน้า 12.)
          เมื่อมีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแทรกซึมอยู่ในที่ทุกแห่งและสามารถปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ของผู้ใช้จึงจะได้ชื่อว่าเป็นสังคมยูบิควิตัส  

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก